ผู้นำ SCGP ฝ่าวิกฤติโควิด ดันรายได้สู่เป้าแสนล้าน

18 พ.ค. 2564 | 08:00 น.

นับตั้งแต่กรกฎาคม 2562 ที่เข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ภารกิจที่ “วิชาญ จิตร์ภักดี” ผลักดันเต็มที่และถือเป็นภารกิจหลัก ก็คือ การรักษาตำแหน่งผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นให้ลูกค้า และผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา SCGP สามารถก้าวขึ้นเป็น packaging solution provider อย่างเต็มตัวแล้ว

ที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP ในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสแรกของปี 2564 สามารถสร้างรายได้ 27,253 ล้านบาท เติบโต 12% โดย 49% เป็นสัดส่วนรายได้ในประเทศไทย 40% เป็นรายได้จากตลาดอาเซียนและส่งออกอีก 11%

“วิชาญ” กล่าวว่า เป้าหมายของ SCGP คือ การขยายสัดส่วนรายได้ของอาเซียนให้ใหญ่กว่าตลาดไทย เพราะต้องการกระจาย (Diversify) พอร์ตธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะผลักดันรายได้รวมของ SCGP ให้ขยับขึ้นแตะหนึ่งแสนล้านบาทแม้จะยังต้องเจอกับวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 จากปี 2563 มีรายได้รวม 92,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2562

 

ผู้นำ SCGP ฝ่าวิกฤติโควิด ดันรายได้สู่เป้าแสนล้าน

เมื่อถามว่า จากสถานการณ์ที่ทั้งไทยและทั่วโลก ยังเผชิญของกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 ทำไมจึงยังมั่นใจกับการเติบโตของรายได้ เรื่องนี้ “วิชาญ” บอกว่า ในช่วงนี้ ทุกๆ ไตรมาส มีทั้งปัจจัยบวกและลบ บริษัทต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เรามีทีมงานที่ดีที่ช่วยกันทำ จากดีมานด์ของตลาดในไตรมาสหนึ่ง เขายังเห็นสัญญาณบวก แต่ไตรมาสสองสำหรับตลาดไทย น่าจะเหนื่อยกว่าไตรมาสหนึ่ง ส่วนตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย น่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมความต้องการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคยังไปได้ แต่ในระยะสั้นก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“เราเน้นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน เดินโรงงานให้เต็มตอบสนองลูกค้าให้ได้ ในสถานการณ์ตลาดที่มีทั้งบวกและลบ เรายังขยายกำลังผลิตในครึ่งปีหลัง ทั้งที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ถ้าเราทำได้ตามแผนเราก็จะมีรายได้เพิ่มอีก เป้ายอดขายที่เราวางไว้ ค่อนข้างชัดเจน ปัจจัยภายนอก เชื่อว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวค่อยๆ ดีขึ้น”

นอกจากนี้ SCGP ยังมีการลงทุนเพิ่ม ด้วยงบ 2 หมื่นล้านบาทซึ่งแบ่งเป็นงบการ M&P และการขยายกำลังการผลิตประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติบโต และอีกประมาณ 5 พันล้านบาทเป็นงบสำหรับการซ่อมบำรุง ปรับปรุงประสิทธิภาพ โครงการวิจัยพัฒนาสินค้า และโครงการพัฒนาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

การเดินหน้าลงทุน พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้รายได้ของ SCGP เติบโตไปตามเป้า ขณะเดียวกันในส่วนของทีมงาน ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการเติบโต “วิชาญ” ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

“เรามีโรงงานที่สมุทรสาครราชบุรี พอเกิดเวฟสอง ก็คุยกันและตัดสินใจตรวจพนักงาน 7,400 คน พบว่าไม่มีใครติด พอตรวจเสร็จ ทุก 3 สัปดาห์เราก็สุ่มตรวจอีก 5% ต่อเนื่อง และตอนนี้เราก็ยังทำอยู่ เรามีการพูดคุยสื่อสารกับพนักงานทุกวันพฤหัสบ่ายโมงมีการตรวจคัดกรอง เราทำมาตลอด จริงๆ มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่เวฟหนึ่ง เพื่อสื่อสารให้พนักงานทราบสถานการณ์โควิด”

 

ผู้นำ SCGP ฝ่าวิกฤติโควิด ดันรายได้สู่เป้าแสนล้าน

 

จากการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อเจอปัญหาติดขัด หรืออะไรที่เป็นความต้องการของพนักงาน ก็นำมาปรับไปเรื่อยๆที่ละเล็กทีละน้อย และมีการปรับใหญ่เรื่องซัพพลายเชนการขนส่ง และยังลงทุนเรื่องของดิจิทัล มีการลงซอฟต์แวร์ใหม่ไปเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเสริมศักยภาพการติดตามการส่งงานให้ลูกค้า ทำให้ SCGP สามารถขับเคลื่อนงานได้เป็นอย่างดี

“เราปรับกันทุกเดือน ทุกอาทิตย์ เป็นการปรับตัว ปรับสินค้า ปรับกลยุทธ์ระยะสั้นต้องปรับไปเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถทำได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าเป้าที่กำหนดส่วนระยะยาว ขยายทั้งแนวกว้างและลึก เราไม่เปลี่ยน ขยายในไทย และภูมิภาค เรายังเชื่อมั่นในศักยภาพและการเติบโตของอาเซียน”

ผู้นำคนนี้ เน้นยํ้านโยบายด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ควบคู่กับการปรับตัวให้รวดเร็ว ปรับสินค้า ปรับพอร์ตลูกค้า เพราะนี่คือวิธีการรักษามาร์จิ้น ดังนั้น แม้ต้นทุนกระดาษจะเพิ่มขึ้น แต่ SCGP ก็ยังสามารถรักษามาร์จิ้นอยู่ในระดับ 20% ไว้ได้ เพราะฉะนั้น ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายแสนล้านบาทในปีนี้ มั่นใจได้ว่า SCGP สามารถทำได้ตามแผนแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564