‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ กับ ‘คนละครึ่ง เฟส 3’ เลือกเยียวยาโควิดอันไหนดี

01 มิ.ย. 2564 | 20:00 น.

โครงการเยียวยาโควิด ระหว่าง "คนละครึ่ง เฟส 3" กับ “โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็น 2 โครงการที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกเข้าร่วมได้เพียงโครงการเดียว

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 4 โครงการเยียวยาโควิด โดยมี "คนละครึ่ง เฟส 3" หรือ ระยะที่ 3 กับ โครงการใหม่ถอดด้ามอย่าง “โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้” มัดรวมก็อยู่ในมติครม.ดังกล่าวด้วย

ซึ่งโครงการเยียวยาโควิดที่ครม.เห็นชอบ มาจากผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2564 และ 18/2564 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการ ครอบคลุมประชาชนประมาณ 51 ล้านคน โดยประชาชนแต่ละคนสามารถเข้าร่วมได้ 1 โครงการ

ขีดเส้นใต้ที่คำว่า เข้าร่วมได้คนละ 1 โครงการเท่านั้น

นั่นเท่ากับว่า หากเลือกคนละครึ่งเฟส 3 ก็หมดสิทธิ์เข้าร่วมโครงการยิงใช้ยิ่งได้ หรือ ถ้าเลือก ยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็ทำตาปริบๆเมื่อเห็นคนแสกนใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง

‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ กับ ‘คนละครึ่ง เฟส 3’ เลือกเยียวยาโควิดอันไหนดี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง  อธิบายขั้นตอนและเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องเลือกเพียงโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้นว่า การลงทะเบียนและการใช้จ่ายของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีรายละเอียดและระยะเวลาดำเนินโครงการในเบื้องต้น ดังนี้

1.ประชาชนผู้สนใจที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีบัตรประจำตัวประชาชน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 06.00 น. – 22.00 น.

โดยผู้ที่เคยใช้จ่ายผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง .com หรือ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ตามต้องการ

ส่วนประชาชนที่ไม่เคยใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของโครงการที่ต้องการเข้าร่วม

“ทั้งนี้ หากผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ประสงค์จะเปลี่ยนไปรับสิทธิอีกโครงการหนึ่งแทน จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิอีกโครงการหนึ่ง ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 และถือเป็นการสละสิทธิโครงการที่ได้รับสิทธิเดิม

2. ประชาชนที่ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทยฯ หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน KrungthaiNext

และเมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้วจะสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมแต่ละโครงการได้ในเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในเวลา 06.00 น. – 23.00 น.

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ประชาชนสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อนำมาคำนวณสิทธิได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และใช้ e-Voucher ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เวลา 06.00 น. – 22.00 น. โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”

ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง .com หรือ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้ .com ตามต้องการ หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ

‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ กับ ‘คนละครึ่ง เฟส 3’ เลือกเยียวยาโควิดอันไหนดี

3. โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 31 ล้านคน จะได้รับสิทธิภาครัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 สำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ (นวด สปา ทำผมทำเล็บ ค่าเดินทางโดยบริการขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชนสาธารณะ) ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ

ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 บาทต่อคน ในแต่ละรอบ รอบละ 3 เดือน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 93,000 ล้านบาท ซึ่งการร่วมจ่ายคนละครึ่งนี้จะช่วยเติมกำลังซื้อของประชาชน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 186,000 ล้านบา

4. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นโครงการใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 4 ล้านคน ที่ชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ

จะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) โดยวงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ

โดยยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสิทธิ e-Voucher จะคืนเป็นวงเงินใน g-Wallet ทุกต้นเดือนถัดไป โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้

โดยวงเงินสำหรับการดำเนินโครงการรวม 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 268,000 ล้านบาท

วันที่ 2 มิ.ย. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ @anucha_bura ระบุว่า เคาะแล้ว! โครงการ ”คนละครึ่ง” ระยะที่ 3 ได้สิทธิ 31 ล้านคน

และโครงการ ”ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตั้งแต่ วันที่ 21 มิถุนายน2564 เวลา 06.00น.–22.00น. #โฆษกเจมส์ #โฆษกรัฐบาล

‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ กับ ‘คนละครึ่ง เฟส 3’ เลือกเยียวยาโควิดอันไหนดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :