รื้อกฎกระทรวงแผ่นดินไหวคลุมพื้นที่เสี่ยง

31 มี.ค. 2564 | 08:53 น.

มท.3 เผยแก้ไขกฎกระทรวง ปรับปรุงให้มีความทันสมัยครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

 

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลความเปลี่ยนแปลงของลักษณะพื้นที่ในเชิงกายภาพหลายพื้นที่ ตลอดจนได้มีการค้นพบพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมในหลายจังหวัดจึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 เพื่อให้มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเข้าใช้อาคารมากยิ่งขึ้น

นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินรองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 16 วันที่ 4 มีนาคม 2564 มีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนาม เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564  โดยกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

เป็น 3 บริเวณ คือบริเวณที่ 1 พื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเลย จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดหนองคาย

บริเวณที่ 2  บริเวณที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับปานกลาง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี

บริเวณที่ 3 บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งนี้ กำหนดรายละเอียดอาคารประเภทต่างๆ จำแนกตามบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวแตกต่างกันข้างต้น และกำหนดให้การอออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารแต่ละประเภท ต้องคำนวณให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ไม่ต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร

รื้อกฎกระทรวงแผ่นดินไหวคลุมพื้นที่เสี่ยง