แบงก์ไม่รับน.ส.3 กู้ซอฟต์โลนช็อก! ‘นิพนธ์’สั่งลุยออกเป็นโฉนดช่วยSMEs

18 มี.ค. 2564 | 02:05 น.

“นิพนธ์” มท.2 สั่งล้าง “น.ส.3-น.ส.3ก” กว่า 3 ล้านแปลง ให้ออกเป็นโฉนดทั้งหมดช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี -ประชาชนเข้าถึงเงินกู้ หลังโดนแบงก์ชาติห้ามนำ น.ส.3-น.ส.3ก มาเป็นหลักประกันกู้เงินซอฟต์โลนจากแบงก์ กรมที่ดินลุยออกใน 5 ปี

การขออนุมัติวงเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) สำหรับ ช่วยเหลือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กลายเป็นประเด็นถกเถียงกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอเงื่อนไขว่าหากผู้ประกอบการรายใดต้องการเงินกู้ซอฟต์โลนต้องใช้โฉนดที่ดินเป็น หลักทรัพย์คํ้าประกัน เท่านั้น โดยจะไม่รับหลักประกันที่เป็น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3-น.ส.3ก) โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงสูงการรังวัดสอบเขตไม่ชัดเจน และไม่ได้รับรองทางกฎหมายเหมือนกับโฉนด อีกทั้งยังถูกครอบครองปรปักษ์ได้ง่ายใช้เวลาเพียง 1ปี ขณะโฉนดใช้เวลา 10 ปี 

ก่อนหน้านี้ ธนาคารยังเปิดทางให้ใช้ น.ส.3 เป็น หลักประกันการกู้เงินซอฟต์โลน ได้ มติดังกล่าวจึงทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเอสเอ็มอีที่ถือครอง น.ส.3ก ซึ่งเป็นหนังสือรับรองที่ออกโดยรัฐ คือกรมที่ดิน ด้อยค่าลงทันที 

ช่วย “เอสเอ็มอี” 

ปมร้อนดังกล่าวทำให้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) ได้ทักท้วงกลางที่ประชุมครม.และขอให้ปรับแก้ไขในเรื่อง หลักประกันเงินกู้ เพราะจะทำให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเดือดร้อนในการกู้เงินแน่นอน หากมีการยึดเฉพาะโฉนด อย่างไรก็ตามธปท.ยังยืน ยันในหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยระบุ ถึงความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์

นายนิพนธ์ยืนกรานว่า เกณฑ์เงินกู้ซอฟต์โลน ผ่านธนาคารออมสินโดยไม่รับน.ส.3 เป็นหลักประกันนั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมและเกรงว่าสถาบันการเงินอื่นจะใช้เป็นแบบอย่าง และทำให้กลายเป็นความเหลื่อมลํ้าระหว่างโฉนดกับน.ส.3ก แม้หลักทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทจะออกโดยรัฐเหมือนกัน ภายหลังมติเรื่องซอฟต์โลนผ่านครม.นายนิพนธ์ได้มอบนโยบายให้กรมที่ดินในโอกาสครบรอบ 120 ปี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ให้อธิบดีกรมที่ดินเร่งจัดทำโครงการแปลง น.ส.3-น.ส.3ก ที่มีอยู่ในขณะนี้กว่า 3ล้านแปลง ให้เป็นโฉนด ให้หมด เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับประชาชน เอสเอ็มอีผู้ครอบครอง โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5-10 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จะเร่งรัดการออกโฉนดให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ได้ 

 

จับเข่าสำนักงบฯหนุน

นายนิพนธ์ เปิดเผยว่าล่าสุดได้ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เร่งรัดการจัดสรรงบประมาณมาให้กรมที่ดินเพื่อเร่งดำเนินการออกโฉนดให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยของบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเดินสำรวจออกโฉนดปีละ 3 แสนแปลง เพราะหากยังให้งบประมาณเพื่อสำรวจออกโฉนดปีละ 300 ล้านบาทเหมือนเดิม จะสามารถออกโฉนดให้กับประชาชนได้ปีละไม่ถึง 1 แสนแปลง หากต้องออกโฉนด 3 ล้านแปลง ต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 30 ปี 

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ2564 กรมที่ดินเสนอของบประมาณเดินสำรวจออกโฉนดไปกว่า 400 ล้านบาท แต่ถูกปรับลดลงจากสถานการณ์โควิดเหลือแค่ 300 ล้านบาท ทำให้ต้องเป้าหมายออกโฉนดจาก 1 แสนแปลง เหลือเพียง 62,000 แปลง กระจายออกโฉนใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

“สำนักงบประมาณ เห็นด้วยกับกระทรวงหมาดไทยในเรื่องนี้เพราะผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจะมีวงกว้างมาก หากไม่มีการรับน.ส.3 เป็นหลักประกันเงินกู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาทางสนับสนุน เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้ ต้องเริ่มจากคนระดับฐานรากต้องเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้ได้  ปัจจุบันประชาชน และเอสเอ็มอีทั่วประเทศล้วนถือครองเอกสารสิทธิ์ประเภทนี้จำนวนมาก”นายนิพนธ์กล่าว

สำหรับโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสินที่ไม่รับเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นนอกจากโฉนดคือ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าเอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 5.99% ปล่อยกู้ 10-50ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือไถ่ถอนจากการขายฝาก


อัพเดตที่ดินทั่วไทย

สมาคมสินเชื่อเชียร์

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยกรมที่ดินมีเป้าหมายเปลี่ยนน.ส.3ก เป็นโฉนดมองว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้ประชาชน มีเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายและสามารถช่วยให้ ธุรกิจรายเล็กๆหรือประชาชนที่จำเป็นต้องใช้เงินสามารถจำนองกับสถาบันการเงินได้ แต่สำหรับ การทำธุรกิจสถาบันการเงินจะไม่ดูเรื่องหลักประกันเพียงอย่างเดียวแต่จะดูสิ่งแวดล้อมขีดความสามารถการผ่อนชำระ โครงการว่า แนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามสำหรับข้อเสีย เกรงว่าการออกโฉนดจะทำให้เกิดการนำที่ดินไปจำนองโดยใช้เงินผิดประเภท ขณะที่ธนาคารออมสินได้ออกมาระบุว่าธนาคารไม่ได้ใช้เฉพาะหลักทรัพย์คํ้าประกันที่เป็นที่ดิน แต่จะดูในหลายองค์ประกอบทั้ง ความสามารถในการผ่อนชำระ พิจารณาผลตอบแทนในการทำธุรกิจ

อีสานน.ส.3กมากสุด

แหล่งข่าวจากกรมที่ดินกล่าวว่าขณะนี้ได้จัดทำแผนเปลี่ยนนส.3ก เป็นโฉนด 10 ปีตั้งแต่ปี2565-2567 เฉลี่ยออกเอกสารสทธิ์ปีละ 1 แสนแปลง ขึ้นอยู่กับงบประมาณหรืออาจเสนอขอตั้งงบประมาณรวบตาม แผน 5 ปี

สำหรับพื้นที่ที่มีน.ส.3ก มากที่สุดเป็นภาคอีสาน จำนวน 1,200,000 แปลง จังหวัดนครราชสีมาสูงสุดเนื่องจากพื้นที่ขนาดใหญ่ ส่วนภาคใต้มีน.ส.3ก 980,000แปลง พบมาที่จังหวัดนราธิวาส, สงขลาภาคตะวันออก มีมากที่สุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีจำนวน มีน.ส.3 ก จำนวน 1 แสนแปลง สูงสุดอยู่ที่จังหวัดชลบุรี 27,000 แปลงรองลงมาระยอง 23,000 แปลง ฉะเชิงเทรา 3,000 แปลง

ภาคเหนือ มีน.ส.3ก 450,000 แปลง สูงสุดจังหวัดเชียงใหม่ 59,000 แปลง รองลงมาสุโขทัย 55,000 แปลง ลำปาง 36,000 แปลง ตามลำดับ

ขณะภาคกลางมีน.ส.3ก 230,000 แปลง มากที่สุด กาญจนบุรี 61,000 แปลง ประจวบคีรีขันธ์ 54,000 แปลง ลพบุรี 44,000 แปลง อย่างไรก็ตามมองว่า พื้นที่นำร่องจะเป็นพื้นที่อีอีซีที่รฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลัง เร่งถก ธปท. รื้อ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน

ธปท.ย้ำไม่มีบริการ Epay Cash สินเชื่อเงินด่วน

ธปท.ชี้ ดอกเบี้ยผิดนัดไม่เกิน 5% ช่วยประชาชนปลดหนี้ง่ายขึ้น

ส่อล่มแผนดันอัญมณีฯ เป็นหลักประกันกู้เงิน

เร่ง“อัญมณี”หลักประกันกู้แบงก์ ต่อลมหายใจหมื่นรายสู้โควิด