รฟท.เปิดข้อพิพาท ‘ที่ดินเขากระโดง’ ประชาชนโผล่ฟ้อง 35 ราย

11 มี.ค. 2564 | 02:25 น.

  “รฟท” ยืนยันที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นของรฟท. ลั่นไม่มีสิทธิพิพาทกับประชาชนตามพลการ หลังประชาชนฟ้องร้องอ้างสิทธิยึดตามโฉนดที่ดิน 35 ราย

 

 

 รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังกระแสข่าวกรณีที่ไม่สามารถยึดที่ดินของรฟท.หลังมีกฎหมายห้ามไว้ตั้งแต่ ร.6 เบื้องต้นขอชี้แจงว่า ในการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินประเภทที่ดินนั้น รฟท.ได้แบ่งประเภทของที่ดินเพื่อการบริหารจัดการไว้เป็นหลายประเภท โดยที่ดินที่มีการบุกรุกโดยประชานซนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ และที่ดินที่มีประเด็นข้อพิพาทจากการที่ประชาชนฟ้องร้องการรถไฟฯเพื่อขอออกเอกสารสิทธิ์ อาทิ โฉนดที่ดิน, ที่ดินที่มี สค.1, น.ส. 3, น.ส. 3 ก.) บนพื้นที่ที่การรถไฟฯ สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ นั้น เนื่องจากเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสม ถูกต้อง และชอบธรรม เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ว่าที่ดินที่พิพาทนั้นเป็นของประชาชนหรือการรถไฟฯ

รฟท.เปิดข้อพิพาท  ‘ที่ดินเขากระโดง’  ประชาชนโผล่ฟ้อง 35 ราย

                ทั้งนี้ รฟท. มีการดำเนินการบริหารจัดการอย่างมีขั้นตอนโดยยึดหลักตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดมาตลอดตามเนื้อหาในคอลัมน์ที่ระบุว่าเป็นเรื่องการบุกรุกและข้อพิพาทการถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินฯบริเวณที่ดินเขากระโดง โดยอ้างอิงเนื้อหาการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า สำหรับประชาชน...รฟท. เดินหน้าเพิกถอนโฉนดที่ดิน น.ส.3 และ น.ส.3ก ของประชาชนในพื้นที่เขากระโดง...แทนที่รฟท. จะดำเนินการกับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่ฟ้องแค่คนใดคนหนึ่ง...นั้น ยืนยันไม่เป็นความจริงในกรณีการพิพาทกับประชาชนจำนวน 35 รายที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขากระโดงนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีทั้ง 35 ราย อ้างสิทธิ์ตาม ส.ค.1 ในที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ฟ้องรฟท. เพื่อขอออกโฉนดในที่ดินพิพาท ซึ่งหลังจากที่ศาลฎีกาได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในคดีดังกล่าวแล้ว จึงพิพากษาว่าที่ดินที่พิพาทของประชาชนผู้ฟ้องคดีดังกล่าวทั้ง 35 ราย เป็นที่ดินของรฟท.

               

 

 

ขณะเดียวกันตามหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานและคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น จะมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีนั้นๆ เท่านั้น รฟท. อาจนำเอาข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีที่มีข้อพิพาทอื่นๆอีกก็ได้ ส่วนศาลในคดีที่รับฟังข้อเท็จจริงในภายหลังนั้นจะรับฟังข้อเท็จจริงและพิจารณาเป็นประการใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจมีผลแห่งคดีที่แตกต่างหรือเหมือนกัน

                อย่างไรก็ตามการที่ รฟท.จะนำข้อเท็จจริงและผลคำพิพากษาในคดีที่ประชาชนจำนวน 35 ราย ฟ้องร้องไปเป็นเหตุในการมีข้อพาทเพิ่มเติมกับประชาชนในบริเวณเขากระโดงที่มีเอกสารสิทธิ์ของทางราชการที่ออกโดยหน่วยงานของทางราชการและอยู่อาศัยอย่างสงบอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์อีกกว่า 1,000 ราย นั้นเป็นเรื่องที่รฟท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจอันเป็นองค์กรของรัฐต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบและเหมาะสม คำนึงถึงผลกระทบทั้งในทางกฎหมาย ความสงบสุขทางสังคม และผลเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

                นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเคยเป็นทนายความเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2550 ยืนยันว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวของประชาชนหลายร้อยครอบครัวมีการออกเอกสารสิทธิโดยชอบธรรมด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกันรฟท.ได้รับรองแนวเขตที่ดินแล้ว

                “อย่าพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ที่ดินทุกแปลงที่ครอบครองที่ดินของรฟท.เป็นการครอบครองโดยไม่ชอบตามกฎหมาย ขณะเดียวกันที่ดินแปลงอื่นถูกยุติตามข้อเท็จจริงในการออกเอกสารสิทธิของกฎหมายที่ดินครบถ้วนถูกต้องแล้ว โดยประชาชน 35 รายไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงอื่นๆ ต่อให้ตระกูลชิดชอบ อยู่ที่นั่นก็เป็นที่ดินโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งมีเอกสารสิทธิถูกต้อง

               

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ภาพรวมที่ดินการรถไฟแห่งประเทศทั่วประเทศกว่า 2.4 แสนไร่ มีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดิน 2 ช่องทาง คือ จากการเวนคืน และได้มาโดยเหตุอื่นๆ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งกรณีที่ดินเขากระโดง การรถไฟฯ ได้สำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เมื่อปี 2550 พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธ์ ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) มากกว่า 35 ราย เอกสาร นส.3 ประมาณ 500 ราย เอกสารครอบครองที่ดินเป็นโฉนด และหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่ง

ปัจจุบันที่ดินแยกเขากระโดงมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์หลายราย ซึ่งการรถไฟฯ ดำเนินการอยู่นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวที่อ้างถึงเป็นที่ดินที่มีโฉนดเลขที่ 3466 มีการซื้อขายกันมาจนออกเป็นโฉนด มีการชี้แนวเขตโดยวิศวกรการรถไฟ และมีประชาชนอยู่ในที่ดินบริเวณดังกล่าวมานาน ขนาดที่ว่า เราเกิดกันไม่ทัน ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการและสั่งการให้ยึดหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เคยแทรกแซง สั่งการใดๆ ในที่ดินดังกล่าว ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่า คนใกล้ชิด หรือไม่ใกล้ชิด ต้องยึดหลักภายใต้หลักกฎหมาย

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564