‘เอพี’ ผู้นำตลาดรายใหม่  

06 มี.ค. 2564 | 08:20 น.

คอลัมน์ ผ่ามุมคิด ... ‘เอพี’ ผู้นำตลาดรายใหม่    

 

 วิกฤติิโควิด-19 เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของวิกฤติที่เกิดขึ้น และยังคงวนเวียนอยู่ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เมื่อไหร่จะสิ้นสุด หรือจะมีวิกฤติิใหม่ๆเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และความเสียหายจะรุนแรงแค่ไหน เปรียบเป็นโจทย์เร่ง กดดันให้ธุรกิจต้องปรับตัว คือ บทสรุป กล่าวเห็นภาพ ที่หัวเรือใหญ่ของบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และภารกิจเข็นบริษัทขึ้นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างเต็มตัว หลังผ่านบททดสอบสุดหินเมื่อปี 2563 มาด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทั้งในมิติของรายได้กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิสูงถึง 4.22 พันล้านบาท สะท้อนถึงหลักคิด และการเอาตัวรอดได้อย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม บุคคลระดับตำนาน 30 ปี อย่างนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ที่เคยร้อน-หนาวมานับไม่ถ้วน ระบุ ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เมื่อแรงกระเพื่อมจากโควิด ยังตีวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย ขณะอสังหาฯ 2564 ขยายตัวแบบเชิงรุก มีลุ้นแค่ครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ดีเวลลอปเปอร์ต้องวิ่งแข่งกับความต้องการลูกค้า-กฎกติกาโลกใหม่ ขณะเอพีเดินหน้าทรานฟอร์มทุกมิติ พร้อมส่ง 147 โครงการใหม่-เก่า โดยเฉพาะแนวราบขับเคลื่อน พิชิตยอดขาย 3.35 หมื่นล้าน 

โควิดบททดสอบใหญ่
    ย้อนไปปี 2563 นั้น คือช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ เพราะโควิด-19 สร้างบททดสอบใหม่ เป็นความปั่นป่วนตั้งแต่ทางเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิต ยอมรับปลาย มี.ค. ขณะที่โรคเริ่มระบาด ในฐานะคนทำธุรกิจ มีความหวาดกลัวมาก สิ่งที่ทำอย่างแรก คือ หยุดซื้อที่ดินทั้งหมด และมีนโยบาย เข้มงวดบริหารจัดการเรื่องสภาพคล่องเป็นหลัก ส่วนการเปิดโครงการใหม่ ยังคงเดินหน้า จบปีเอพีเปิดใหม่สูงสุดในตลาด 38 โครงการ แต่บ้านที่สร้าง อยู่ภายใต้การควบคุมต้นทุนที่เหมาะสม สร้างเร็วและต้องขายออกได้เร็ว ทำให้บริษัท เติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงสุดเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม

ทั้งมิติรายได้รวม โตกว่า 42% สูงถึง 46,130 ล้านบาท โดยมีสินค้าแนวราบเป็นตัวผลักดันจากหลักพันขึ้นสู่หลักหมื่น  และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 38% ขณะฐานะทางการเงิน จากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 1.03 เหลือเพียง 0.71 เท่านั้น และมีเงินสดพร้อมเบิก 1.4 หมื่นล้าน สะท้อนถึงการบริหารพอร์ตสินค้า และกระแสเงินสดที่รัดกุมท่ามกลางสภาวะวิกฤติิ

 

‘เอพี’ ผู้นำตลาดรายใหม่  

 

โควิดทำศก.ซึมยาว
    อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางของบริษัทจะดี และการมาของวัคซีนคือ ความหวัง แต่วางใจไม่ได้ จนกว่ากระบวนจัดการโรค แผนกระจายวัคซีนจะสำเร็จ ขณะในมิติของผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ คล้ายระลอกคลื่น สร้างความเสียหายเป็นวงกระเพื่อมกว้าง คาดเวลาในการฟื้นตัวต้องลากยาวอีกหลายปี อย่างต่ำ เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเทียบเท่ากับภาวะก่อนโควิด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือช่วงปี 2567 ส่วนปีนี้ จากการคาดการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว มองเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น 
    “คุยกับนักธุรกิจหลายคน เราเห็นชัด ว่าผลจากโควิดรอบนี้ กระทบเอสเอ็มอีเยอะมาก ภาพลวงตา คือ สมมติฐานว่าจีดีพีไทยจะโต แต่เป็นการโตจากฐานที่ติดลบ ฉะนั้นภาพเศรษฐกิจปีนี้ จะอยู่ในภาวะมึนๆ ซึมๆ”

อสังหาฯ 64 
    นายอนุพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาฯนั้น คนจะซื้อเมื่อมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นโดยตรงอย่างไร ก็ไม่ดีเท่า คนมีงานทำ เกิดความมั่นใจในการอุปโภคบริโภค ฉะนั้นรัฐบาลต้องใส่เงินให้ถูกที่ ส่วนดีเวลลอปเปอร์ปีนี้ จะมีความยากในการขอสินเชื่อพัฒนาโครงการ ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะธนาคารต่างกลัว ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมซัพพลาย ที่พร่องไปมากจากแผนระบายสต็อกที่ยังลุยกันต่อ โดยต้องจับตาระหว่าง ซัพพลายที่ลดลง กับดีมานด์ที่ลดลง มิติไหนแย่มากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ภาวะยังดีกว่าช่วงปี 2540 มาก เพราะรัฐบาลยังมีทุนสำรอง ธุรกิจบางส่วนไปได้ มีเพียงตลาดคอนโดฯ ที่สะบักสะบอม 

  “ภาพรวมอสังหาฯครึ่งปีแรก น่าจะยังเหนื่อย เร่งระบายของกันอยู่ แต่ครึ่งปีหลัง มีลุ้นเปิดใหม่มากขึ้น เพราะบางเซ็กเมนต์แนวโน้มดี มีตลาดรองรับ ลูกค้าเองจะเริ่มมองหาของดี  โดยเฉพาะแนวราบ ถ้าเจาะถูกก็ไปได้” สำหรับเอพี ปีนี้จะมี 147 โครงการทั่วประเทศ พร้อมขายกว่า 1.2 แสนล้านบาท เปิดใหม่  34 โครงการ มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่ได้มองว่าเป็นทั้งโอกาสหรืออุปสรรคเพราะหัวใจสำคัญ คือ การบริหารจัดการ 

 

 

 

กฎโลกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน
    ทั้งนี้ โมเดลการทำธุรกิจแบบเดิม ไม่ใช่คำตอบของการอยู่รอดในอนาคตอีกต่อไป สำหรับอสังหาฯ อาจต้องสู้รบถึง 3 ด้าน ตั้งแต่ดีเวลลอปเปอร์กันเอง ,ผู้รับเหมาที่ชำนาญไหลเข้ามาในตลาดต่อเนื่อง และธุรกิจนอกตลาดที่ผันตัวเข้ามาทำ ท่ามกลางเทคโลโลยีไล่ดิสรัปต์ฯ สำหรับพันธกิจของเอพี คือ ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและหานวัตกรรมสินค้าใหม่ให้ลูกค้านั้น จากอดีตมีพนักงานราว 50 คน สู่ 2 พันคนในวันนี้ แต่ละช่วงที่ผ่านมา เปรียบเป็นการผจญภัย เรามาไกลมาก แต่ถามว่าไปอีกได้ไหม เราก็ต้องเปลี่ยนอีกมาก 

 โดยในปี 2564 บริษัทเตรียมทรานส์ฟอร์มทุกมิติ เพื่อรับความท้าทายใหม่ๆ ขณะนี้ทุกคนในบริษัท เปรียบอยู่บนเรือลำเดียวกัน กำลังฝ่ามรสุมใหญ่ เราจะใช้กลยุทธ์ 3 ข้อในการขับเคลื่อน คือ 1. สร้างพนักงานให้เป็นผู้นำ เน้นความต้องการลูกค้า มากกว่าข้อจำกัดขององค์กร  2. การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่เอื้อต่อการสร้างสิ่งใหม่ และ 3.ปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลทุกมิติ เพื่อตอบสนองลูกค้า ทั้งสินค้าและบริการอย่างรวดเร็ว  เพราะการจะรับกฎกติกาของโลกที่เปลี่ยนใหม่ ต้องเริ่มจากภายในองค์การเป็นหลัก เปรียบมีความพร้อมของเครื่องมือ มีเข็มทิศชัดเจน มรสุมลูกไหนจะฝ่าไปได้ ส่วนในแง่ของโปรดักต์ ยังคงเน้นย้ำ” Unmet Need “สร้างสิ่งใหม่ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แฝงอยู่ เป็นต้น 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: