กทม.ยื้อค่าตั๋ว "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 104บาท

22 ม.ค. 2564 | 02:00 น.

กทม.-บีทีเอส ยืนยัน เก็บค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว สูงสุด 104 บาทวันที่ 16 ก.พ.64 ตามประกาศเดิมหลังกระทรวงคมนาคม-กรมรางร่อนหนังสือค้าน

 

กรุงเทพมหานคร(กทม.)ประกาศอัตราจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทุกเส้นทางสูงสุด 104บาท นับตั้งแต่วันที่16กุมภาพันธ์ 2564เป็นต้นไป ท่ามกลางเสียงคัดค้าน รอบด้าน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ ว่า ควรทบทวน และหาทางออกรวมกัน ทั้งนี้ นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามประกาศ ดังกล่าว เนื่องจาก ขร. พิจารณาแล้วเห็นว่า อาจส่งผล

 


กระทบต่อสาธารณชนจึงขอให้ กทม.พิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมและขอให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 ที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และกทม. บูรณาการร่วมกันในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน ทั้งนี้ขร.จะเสนอกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่ ครม. มอบหมาย หารือร่วมกับกทม.ต่อไป เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ

ขณะแหล่งข่าวกทม.ยืนยันที่ผ่านมากทม.ได้ประกาศค่าโดยสารแจ้งต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในฐานะเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ ไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันยังคงยึดตามประกาศเดิม

 

อีกทั้งอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ซึ่งจะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาทเป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาท ของกทม. ประกอบด้วย ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดจากการรับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสำโรง-เคหะฯ ทั้งนี้ส่วนเงินต้นค่างงานโยธา ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคต ประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าลงทุนงานระบบใน E&M ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสำโรง-เคหะฯประมาณ 20,000 ล้านบาท ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย 9,000 ล้านบาท ทั้งนี้เอกชนต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้กทม.อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

 

“กทม.ยืนยันว่าภายใต้อำนาจ กทม.พยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยกทม.จะอธิบายเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อสามารถปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลงเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด”

 

สอดคล้องกับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า กรณีที่กทม.ประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ 104 บาท นั้น ขณะนี้กทม.ยังไม่ได้นัดเจรจากับบีทีเอสเพิ่มเติมถึงเรื่องดังกล่าว ถึงแม้ว่าทางกระทรวงคมนาคและกรมการขนส่งทางรางจะออกมาคัดค้านก็ตาม

“ปัจจุบันเรายืนยันจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศของกรุงเทพ มหานคร กรุงเทพมหานครให้เราดำเนินการอย่างไร เราก็ปฏิบัติไปตามที่กรุงเทพมหานครแจ้งมาเท่านั้น”

 

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวชั่วคราว 104 บาท แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย 1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเส้นทางสัมปทานในปัจจุบัน (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่) เป็นไปตามตารางที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เป็นผู้กำหนด ซึ่งยังคงจัดเก็บในอัตราเดิม คือ 16-44 บาท 2. ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต ค่าโดยสาร 15 - 45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี) 3. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากสถานีบางจาก ถึงเคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี) 4. ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 จากสถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า ค่าโดยสาร 15-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี  

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาะแล้ว! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บ 16 ก.พ.

คมนาคม หัก กทม.ชะลอขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว104บาท ​​​​​​​

กรมราง ตื่น เบรกขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว ​​​​​​​

ผู้ว่ากทม.ออกประกาศ ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสาย สีเขียวทุกเส้นทาง เริ่มใช้ 16 ก.พ.64

"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" แพง 104 บาท "ศรีสุวรรณ" จี้คมนาคมรับผิดชอบ