ชิงโอนบ้าน แยกทะเบียน หนีภาษีที่ดิน

17 ธ.ค. 2562 | 06:45 น.

คนกรุง-ท้องถิ่นชุลมุน ภาษีที่ดินบังคับใช้ 1 ม.ค. 63 บิ๊กกูรู “อธิป” เผย โอน-แยกทะเบียนกันอุตลุด ก่อนสิ้นปี หนีบ้านหลังที่ 2 ขณะ มท.2 แจงเลื่อนจัดเก็บไปส.ค. เหตุกฎหมายลูกยังไม่รองรับ

 

 

สร้างความชุลมุนวุ่นวายขึ้นเมื่อ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งแบบแจ้งข้อมูลรายการ ที่อยู่อาศัย ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

 

เพื่อเป็นหลักฐานนำไปชำระภาษี ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้จริง นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าของทรัพย์สินยืนยันต่อ สำนักงานเขต ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของอาคารว่า ลักษณะการทำประโยชน์ตรงตามที่ท้องถิ่นระบุหรือไม่ โดยให้เวลา 15 วันนับจาก ได้รับ แบบแจ้งฯ

ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมาก วิตกกังวล พากันเดินทางไปยังสำนักงานเขตกันอย่างเนืองแน่น ไม่ต่างจากการรอทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน หรือ สำนักงานที่ดิน เนื่องจาก มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในใบแจ้งข้อมูลที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะกำหนด ประเภท อื่นๆ ซึ่งว่ากันว่าหากไม่มายืนยันว่าเป็นอาคารประเภทที่อยู่อาศัย หรือ บ้านหลังแรกจะเข้าข่ายต้องชำระภาษีประเภทพาณิชยกรรม เสียภาษี 0.3%

ชิงโอนบ้าน  แยกทะเบียน  หนีภาษีที่ดิน

ขณะเดียวกัน ความวุ่นวายยังเกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะตัวบุคลากร ความชำนาญในการรังวัด สอบเขต การคำนวณพื้นที่อาคารประกอบกับกฎหมายลูกยังไม่ให้อำนาจ ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องเลื่อนการ จัดเก็บรายได้ ดังกล่าวออกไป เป็นเดือนสิงหาคม 2563 จากเดิมเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องออกบิล หรือใบแจ้ง เรียกเก็บภาษี ภายในเดือนกุมภาพันธ์ และชำระภาษี ภายในเดือนเมษายน 2563 แต่ เนื่องจากเรื่องนี้ ยังเป็นเรื่องใหม่ จึงเกิดปัญหา ทั้งประชาชน เจ้าของอาคารและเจ้าหน้าที่ ส่วน การบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดิน ยังคงยึดวันที่ 1 มกราคม 2563 ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ที่น่าจับตา คือ การเตรียม ความพร้อม ของผู้ประกอบการ,ผู้ครอบครองที่อยู่อาศัยเกินกว่า 1 หลัง เพื่อให้เช่า ต่างเร่งโอน และย้ายทะเบียนบ้านกระจายการถือครอง ให้ทันก่อนภาษีที่ดินบังคับใช้ เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีสำหรับบ้านหลังที่สอง

ชิงโอนบ้าน  แยกทะเบียน  หนีภาษีที่ดิน

โอนอุตลุดก่อนปีใหม่

นายอธิป พีชานนท์ ประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้กระทรวงหมาดไทย จะเลื่อนการชำระภาษีจาก เดือนเมษายน 2563 ออกไปเป็น เดือนสิงหาคม 2563 แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายแม่ จะ ขยับตาม หากใครต้องการ กระจายการถือครอง กรณีครอบครองบ้านหลายหลัง ในชื่อของตนเอง หากไม่ต้องการเสียภาษีจะต้อง รีบโอนกรรมสิทธิ์ให้กับทายาท คู่สมรส หรือญาติพี่น้องไม่เกิน สิ้นปีนี้ หรือก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ไม่เช่นนั้นแล้ว จะอยู่ในข่าย เสียภาษีสำหรับบ้านหลังที่ 2 ที่เสียตั้งแต่บาทแรก ซึ่งต่างจากบ้านหลักแรก หรือบ้านหลังหลักที่ไม่ต้องเสียภาษีหาก ราคาไม่เกิน 50 ล้าน (ตามราคาประเมินรัฐ)

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีการเคลื่อนไหวของนักลงทุน ที่ซื้อคอนโดมิเนียมหลายหลัง มีการโอนกรรมสิทธิ์ โดยใช้ชื่อทายาท และย้ายทะเบียนบ้าน อีกรูปแบบ จะกระจายในบริษัท เพื่อสามารถนำไปหักภาษี ได้ เช่นเดียวกับวิธีนำเข้ากงสีซึ่งเป็น บรษัทของคนในครอบครัว

กรณีไม่ต้องการใช้ชื่อบุคคลอื่นถือครองแนะนำให้นำบ้านที่ราคาแพงที่สุด จดเป็นบ้านหลังหลัก โดยใช้ชื่อตนเอง ทั้งโฉนด และทะเบียนบ้าน ส่วนบ้านหลังอื่นๆ หากปล่อยเช่า มี นักลงทุนหลายรายมักบวกเพิ่มไปในค่าเช่า ไม่เช่นนั้นหากจับได้ว่าปล่อยเช่า จะถูกเสียภาษีประเภท พาณิชย์ เสีย 0.3% ราคา 1 ล้านบาทเสียภาษีปีละ 3,000 บาท


ชิงโอนบ้าน  แยกทะเบียน  หนีภาษีที่ดิน

ทำเลดีไม่ขาย

ขณะที่ดินที่คาดว่าเมื่อภาษีที่ดินบังคับใช้เจ้าของที่ดินจะยอมคายที่ดินแปลงใหญ่ออกมา ผู้ประกอบการสามารถซื้อได้ในราคาถูกนั้นประเมินว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการพัฒนาถูกบีบทั้งเศษฐกิจ และกำลังซื้อ หากซื้อที่ดินจะต้องเน้นแปลงที่ขายได้อยู่แนวรถไฟฟ้า แต่ติดปัญหาเจ้าของที่ดินไม่ขาย เพราะ ราคาที่ดินขึ้นเฉลี่ย 6% แต่เสียภาษีรกร้างไม่ถึง 1% ถือว่าคุ้มค่ากว่าปล่อยขาย

ชิงโอนบ้าน  แยกทะเบียน  หนีภาษีที่ดิน

ภาษีที่ดิน ดันต้นทุนพุ่ง

ด้าน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคม อสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการ มีความกังวล เรื่องต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัย เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินที่ดินใหม่ฉบับใหม่ โดยจะยังมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดด้วย เนื่องจากคาดที่จะมีที่ดินเปล่าถูกขายเพื่อหนีภาษีเข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่คงไม่ได้ทำให้ราคาที่ดินลดลง โดยเฉพาะไพรม์แอเรียติดรถไฟฟ้า ที่มีความต้องการสูง สำหรับการ เลื่อนเก็บภาษีออกไป เป็นเดือนสิงหาคม มองว่า ได้ยืดค่าใช้จ่ายออกไป เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ต่างฝ่ายต่างไม่พร้อม เช่น ราคาประเมินที่ ยังใช้ของเก่า เพราะยังมีรายละเอียดอีกมาก โดยเฉพาะการประเมินสิ่งปลูกสร้างที่ต้องแยกชิ้นส่วน โครงสร้างอาคาร ซึ่งต่างจากการประเมินที่ดินอย่างเดียว ส่วนกฎหมายแม่ไม่ได้เลื่อนใช้

 

ต้องรอก.ม.ลูกรองรับ

ขณะเหตุผลที่ กระทรวงมหาดไทย แจ้ง อปท. เลื่อนจัดเก็บรายได้ตามอำนาจกฎหมายภาษีที่ดินออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ยืนยันว่า ท้องถิ่นต้องรอกฎหมายลูกและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่จะออกมารองรับการปฏิบัติ ประมาณ 8 ฉบับ ซึ่งประเมินว่าไม่น่าจะทัน ระยะเวลาที่ภาษีที่ดินมีผลใช้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562