“อิหร่าน”จับเข่าคุยไทย ขยายตลาดน้ำมันแลกสินค้าเกษตร

05 มี.ค. 2564 | 08:23 น.

ทูตอิหร่านนำทีมถก กมธ.พลังงาน สภาผู้แทนราษฎร หารือขยายการค้าลงทุน ชูขายน้ำมัน แลกนำเข้าสินค้าเกษตรไทย พาณิชย์เผยค้าไทย-อิหร่านติดลบ 43% มูลค่าแค่ 7.3 พันล้าน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ให้การรับรองนายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี(Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และคณะ ณ ห้องรับรอง ชั้น 3  อาคารรัฐสภา ทั้งนี้ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน โดยสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ต้องการเปิดตลาดการค้าการลงทุนกับทุกประเทศให้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าน้ำมันซึ่งประเทศไทยสามารถนำเข้าจากอิหร่านได้

ขณะที่ประเทศไทยมีความสนใจส่งออกสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าว และข้าวโพด ไปยังอิหร่าน เนื่องจากอิหร่านเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสนทนาเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ ระหว่างกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป

คณะของเอกอัครราชทูตอิหร่านได้ให้ข้อมูลด้านศักยภาพอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของอิหร่านว่า มีอายุย้อนไปถึงปี 1908 (พ.ศ.2451) เมื่อมีการค้นพบแหล่างไฮโดรคาร์บอนมากกว่า 145 แห่ง และแหล่งกักเก็บน้ำมันและก๊าซ 297 แห่ง ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ทั้งหมด 73 แห่ง แบ่งเป็นน้ำมัน 36 แห่ง และก๊าซ 37 แห่ง

ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

ปัจจุบัน National Iranian South Oil Company (NISOC) เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดในอิหร่าน นับตั้งแต่มีการขุดเจาะบ่อน้ำมันแห่งแรกของตะวันออกกลางที่  Masjed Soleiman  ในปี 1908 โดย NISOC มีบริษัทย่อย 5 แห่งได้แก่ ICOFC เป็นผู้สนับสนุนหลักในการผลิตก๊าซแห่งชาติ ครอบคลุม 75% ของอิหร่าน  และ ICOFC ยังมีบริษัทย่ยอยอีก 3 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันตกของจังหวัด Khuzestan จนถึงชายแดนอิรัก และ บริษัทน้ำมันนอกชายฝั่งของอิหร่าน หรือ Iranian Offshore Oil Company : IOOC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซใน 6 พื้นที่ในอ่าวเปอร์เซียและทะเลโอมาน

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร  ในปี 2563 การค้าไทย-อิหร่านมีมูลค่ารวม 7,397 ล้านบาท (จากปี 2561 มีมูลค่าการค้า 31,440 ล้านบาท และปี 2562 มีมูลค่า 12,968 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 43% โดยไทยส่งออก 4,146 ล้านบาท ลดลง 18% และนำเข้า 3,251 ล้านบาท ลดลง 66%ไทยได้ดุลการค้าอิหร่าน  895 ล้านบาท

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรกไปอิหร่านในปี 2563   ได้แก่ ยางพารา, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, ข้าว, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์เซรามิก, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และรองเท้าและชิ้นส่วน

ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากอิหร่าน 10 อันดับแรก ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป, ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้, เชื้อเพลิง, พืช และผลิตภัณพ์จากพืช, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก, แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่, ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อิหร่านจ่อเผชิญการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิดรอบที่ 4 หลังพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ

อิหร่านลั่นแค้นต้องชำระหลังนักวิทย์คนสำคัญถูกลอบสังหาร

จับตามะกันเพิ่มแซงก์ชัน ค้าไทย-อิหร่าน กู่ไม่กลับ

“ทรัมป์”ขู่คว่ำบาตรเพิ่ม ค้าไทย-อิหร่านส่อวูบหนัก

‘พาณิชย์’ฟื้นขายข้าวอิหร่าน เป้า7แสนตันต่อปี-ยอดค้า2ฝ่ายโตพรวด