“ไพบูลย์"ยื่น"ชวน"ค้าน 4 ญัตติแก้รธน.ของฝ่ายค้าน

14 ก.ย. 2563 | 07:36 น.

“ไพบูลย์”ยื่นค้านญัตติแก้รธน.อีก 4 ญัตติของฝ่ายค้าน ชี้เข้าข่ายลงชื่อซ้ำซ้อน ส่อขัดรธน. เหมือนร่างพรบ.งบ 63 เตรียมชงส่งศาลรธน.ตีความ เลขาฯ“ชวน”ชี้ส.ส.มีสิทธิลงชื่อญัตติเสนอก.ม.คนละฉบับได้

 

วันนี้ (14 ก.ย.63) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ ของพรรคฝ่ายค้าน เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เนื่องจากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีส.ส.ลงชื่อซ้ำซ้อนกับญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 (1) ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 4 ญัตติ ที่ฝ่ายค้านยื่นมาล่าสุดพบว่า มีส.ส.ลงชื่อซ้ำซ้อนกับญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา256 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 5/2563 กรณีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เสนอความเห็นส.ส. 77คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความถูกต้อง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกับเรื่องพิจารณาที่3/2563 และมีรายชื่อส.ส.ผู้เสนอความเห็นลงชื่อซ้ำกัน 30 คน ทำให้จำนวนส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องมีไม่ถึง 1ใน10ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด คำร้องดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการลงรายชื่อของส.ส.จะลงชื่อได้ครั้งเดียว จะมีรายชื่อซ้ำในทำนองเดียวกันไม่ได้ ดังนั้นตนจึงขอคัดค้านการบรรจุร่างแก้รัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่วาระการประชุม เพราะเกรงว่า หากนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความไม่ชอบเข้าสู่ที่ประชุมไปแล้ว ภายหลังมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความถูกต้อง จะเกิดผลกระทบตามมามากมาย

 

จึงอยากให้ประธานรัฐสภา ยับยั้งญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับไว้ก่อน เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการลงรายชื่อซ้ำซ้อนกันในร่างแก้รัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ตนจะยื่นญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ให้พิจารณาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

 

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 กับญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ญัตติ มีเนื้อหาคนละอย่างกัน จะทำให้เข้าชื่อซ้ำกันได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณีเป็นการเข้าชื่อยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นมาตราใด ไม่ว่าจะเป็นการขอแก้มาตรา 256 หรืออีก 4 ญัตติที่เหลือ เป็นการยื่นขอแก้รายมาตรา

 

ดังนั้น จะเข้าชื่อซ้ำซ้อนกันในญัตติไม่ได้ ยืนยันไม่มีเจตนาขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ แค่อยากตรวจสอบการยื่นให้มีความถูกต้องก่อน จะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทราบว่าฝ่ายค้านก็สงสัยเช่นกัน จึงได้ทำหนังสือไปสอบถามสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าสามารถลงชื่อหลายญัตติได้หรือไม่

 

 

ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า ตนจะนำหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ สภาฯ เสนอมาทั้งหมด  7 ญัตติ โดยบรรจุระเบียบวาระไปแล้ว 2 ญัตติ คือ ญัตติของฝ่ายค้าน ที่นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล 

 

ส่วนอีก 5 ญัตติอยู่ระหว่างการตรวจสอบของประธาน โดยนายชวนจะตรวจสอบแก้ไขเพิ่มเติมว่าต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ อีกทั้งต้องตรวจสอบจำนวนส.ส.ตามมาตรา 256 (1) ที่ต้องมาจาก ครม.หรือส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เท่าที่มีอยู่ของส.ส.ที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยจำนวนส.ส.ปัจจุบันมี 488 คน หรือต้องมีอย่างน้อย 98 คน รวมทั้งตรวจสอบรูปแบบว่ามีหลักการเหตุผลของร่างหรือไม่ด้วย

 

เมื่อถามว่าส.ส.สามารถลงรายมือชื่อซ้ำกันได้หรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าตรงตามมาตรา 256 หรือไม่ และเบื้องต้นสมาชิกลงรายมือชื่อซ้ำกันคงไม่เป็นไร เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดสิทธิ์ไว้