"หมอธีระ"ชี้โควิด-19 มีเวลาเพียง 4 สัปดาห์ คุมการระบาดให้ได้

23 ธ.ค. 2563 | 02:06 น.

"หมอธีระ"ชี้โควิด-19 มีเวลาเพียง 4 สัปดาห์ คุมการระบาดให้ได้ มิฉะนั้นมีโอกาสระบาดทวีคูณยากแก่การจัดการ ชี้จะคุมได้ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเข้มข้นมากกว่านี้

วันที่ 23 ธันวาคม  2563  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด 23 ธันวาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  ระบุว่า  ทะลุ 78 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 669,068 คน รวมแล้วตอนนี้ 78,245,210 คน ตายเพิ่มอีก 14,450 คน ยอดตายรวม 1,720,867 คน

 

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 237,018 คน รวม 18,622,144 คน ตายเพิ่มอีกถึง 3,775 คน ยอดตายรวม 329,776 คน

 

อินเดีย ติดเพิ่ม 23,881 คน รวม 10,099,303 คน

 

บราซิล ติดเพิ่มถึง 55,202 คน รวม 7,318,821 คน

 

รัสเซีย ติดเพิ่ม 28,776 คน รวม 2,906,503 คน

 

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 11,795 คน รวม 2,490,946 คน

 

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และอาร์เจนตินา ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

 

เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

 

แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชียยังไม่ดีขึ้น ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

 

เมียนมาร์ และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มเฉียดพัน ส่วนจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนามยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

 

...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 964 คน ตายเพิ่มอีก 19 คน ตอนนี้ยอดรวม 117,946 คน ตายไป 2,484 คน อัตราตายตอนนี้ 2.1%

ช่วงนี้มีหลายคนถามถึงเรื่องสหราชอาณาจักรที่กำลังเผชิญการระบาดหนักจนควบคุมไม่ได้ ส่วนหนึ่งเค้าเชื่อว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส

ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าไวรัสที่กลายพันธุ์นี้ จัดอยู่ในสายพันธุ์ B1.1.7 โดยมีอีกชื่อที่เรียกว่า VUI-202012/01 ซึ่งจริงๆ แล้ว VUI ย่อมาจาก "Variant under investigation" แปลง่ายๆ คือ เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลและอยู่ระหว่างการศึกษาตัวแรกของเดือนธันวาคม 2020 นั่นเอง

 

ลักษณะของการกลายพันธุ์นี้ มีหลายแบบ โดยเค้าพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของกรดอมิโน โดยฮิสติดีนตำแหน่งที่ 69 และวาลีนตำแหน่งที่ 70 นั้นหายไป เรียกว่า ΔH69/ΔV70 โดยมักเกิดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของกรดอมิโนตำแหน่งอื่นที่ส่งผลต่อส่วนหนามของไวรัสที่ใช้จับกับเซลล์มนุษย์ ได้แก่ การมีไทโรซีนมาแทนแอสพาราจีนที่ตำแหน่ง 501 (N501Y), การมีไลซีนมาแทนแอสพาราจีนที่ตำแหน่ง 439 (N439K), และการมีฟีนิลอลานีนมาแทนไทโรซีนที่ตำแหน่ง 453 (Y453F)

 

หลายคนอ่านแล้วงง ก็ไม่ต้องไปสนใจรายละเอียดเชิงเทคนิค แต่เอาเป็นว่า การกลายพันธุ์ในลักษณะต่างๆ ข้างต้น มีการวิจัยในห้องทดลองแล้วพบว่าบางแบบนั้นทำให้ไวรัสแพร่ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม มีตั้งแต่เร็วขึ้น 70% ไปจน 2 เท่าของของเดิม อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อยืนยันต่อไปว่าในความเป็นจริงแล้วจะแพร่ไวขึ้นเท่าใด ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะบอกว่าไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวจะทำให้อัตราตายมากขึ้นไหม และจะดื้อต่อวัคซีนที่เรากำลังใช้อยู่หรือไม่

 

ตอนนี้หลายประเทศจึงเริ่มแบน ไม่ให้คนเดินทางจากสหราชอาณาจักรเข้าสู่ประเทศ เพราะกลัวเรื่องการนำเชื้อกลายพันธุ์จะเข้ามาระบาด

 

คงต้องให้กำลังใจทางสหราชอาณาจักรให้มีสถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ไวรัสโรค COVID-19 นี้ ไม่ว่าจะกลายพันธุ์อย่างไรก็ตาม หลักในการป้องกันคือ การใส่หน้ากาก การอยู่ห่างจากคนอื่น พบคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัด และการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การล้างมือ ไม่แชร์ของกินของใช้ หากทำได้เคร่งครัด โอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อก็น้อยลงมาก ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียง

ส่วนของไทยเรานั้น ย้ำอีกครั้งว่าสถานการณ์ตอนนี้วิกฤติ

 

เรามีเวลาเพียง 4 สัปดาห์ ที่ต้องคุมการระบาดให้ได้ มิฉะนั้นมีโอกาสระบาดทวีคูณยากแก่การจัดการ และจะทำให้จำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงสุดไปถึง 5 เท่าของระลอกแรก และใช้เวลาสู้ยืดเยื้อยาวไปถึง 2 เท่า หรือ 3 เดือน

 

จะคุมได้ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเข้มข้นมากกว่านี้ครับ

 

ย้ำอีกครั้ง...ตอนนี้วิกฤติ ขอให้เราทุกคนรักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอ

 

ใส่หน้ากากเสมอนะครับ!!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดโควิด 23 ธ.ค.63 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 5.22 แสนราย รวม 78.29 ล้านราย

อังกฤษทุบสถิติ ติดเชื้อใหม่ 36,000 รายในวันเดียว ดันยอดรวมทะลุ 2.1 ล้านราย

สมุทรปราการ งัดพรก.ฉุกเฉิน คุมการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

ผู้ว่าฯสมุทรสงคราม สั่งล็อกดาวน์ 28 สถานที่เสี่ยงโควิด