อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.11 บาท/ดอลลาร์

30 มิ.ย. 2564 | 01:12 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 แนะผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือ ในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.11 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.02 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.05-32.20 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท  ประเด็นสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท ยังคงเป็นประเด็นความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย โดยสถานการณ์การระบาดทั่วโลก จะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวได้ดี ซึ่งจะทำให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น หนุนให้ เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้

 

นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดในไทยยังวิกฤติอยู่ จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ในระดับสูงและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

และนอกเหนือจากปัจจัยการระบาดของ COVID-19 โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ ผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่

 

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยคุมไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน

 

ดังนั้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options พราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่นำโดย สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 127.3 ในเดือนมิถุนายน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ยังทวีความรุนแรงในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ รวมถึง กลุ่มอาเซียน อนึ่ง ผลการวิจัยล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า วัคซีน mRNA สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 ได้ดีเกือบทุกสายพันธุ์ แม้ว่าปริมาณอาจลดลงไปบ้างในสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็ตาม ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง Delta ในสหรัฐฯ ซึ่งอาศัยการแจกจ่ายวัคซีน mRNA กว่า 70% ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดูสดใสอยู่

 

การเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปิดตลาดในแดนบวก นำโดย หุ้นในกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่ม Semiconductor ที่ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.19% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.03% ส่วนในฝั่งยุโรป การเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด แม้จะมีความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 อยู่บ้าง ก็ได้หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +0.43% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Infineon Tech. +3.52% ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงของเงินยูโร ก็ได้หนุนหุ้นสินค้าแบรนด์เนม รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรม ปรับตัวขึ้น Adidas +2.63%, Louis Vuitton +0.96%, Volkswagen +0.90%

 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก รวมถึง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเป็นหนึ่งใน FOMC Voting member ก็ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.48% ซึ่งเราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways จนกว่าเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจนถึงการทยอยปรับลดคิวอีลง ซึ่งอาจเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่เฟดจะมีงานประชุมสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole หรือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีทิศทางชัดเจนมากขึ้น ว่าจะเลวร้ายลง (กดดันยีลด์ปรับตัวลง) หรือ ดีขึ้นต่อเนื่อง (อาจหนุนยีลด์ปรับตัวขึ้นได้)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ อาจชะลอลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สวนทางกับภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กอปรกับผู้เล่นในตลาดก็เริ่มสะสมสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะ เงินดอลลาร์ เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.05 จุด กดดันให้ เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) อ่อนค่าลงกว่า 0.7% แตะระดับ 0.751 ดอลลาร์ต่อAUD ส่วน เงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลงราว 0.2% สู่ระดับ 1.19 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ ย่อตัวลงเกือบ 1% สู่ระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่าน ยอดการจ้างงานภาคเอกชน สำรวจ โดย ADP ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ได้ โดย ตลาดคาดการณ์ว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชน จะเพิ่มขึ้นราว 6 แสนตำแหน่ง ในเดือนมิถุนายน สะท้อนว่า Nonfarm Payrolls ในวันศุกร์นี้ ก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic ซึ่งเป็นหนึ่งใน Voting member ของ FOMC

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่าเศรษฐกิจจีนยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ (Mfg. & Services PMIs) ยังอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด และ 55.3 จุด ตามลำดับ (ดัชนี > 0 หมายถึงภาวะขยายตัว)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าแนว 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงหลังเปิดตลาด ทั้งนี้ปัจจัยกดดันเงินบาท รวมไปถึงสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ให้อ่อนค่าลง หลักๆ แล้วยังมาจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสายพันธ์กลายพันธ์เดลต้า ที่ควบคุมสถานการณ์ค่อนข้างยาก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีสถานะเป็นสกุลเงินปลอดภัยในช่วงระยะนี้

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.00-32.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ค. ของไทย ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน และข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย. รายงานโดย ADP  และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ค.ของสหรัฐฯ