'นายกฯ'ส่งซิกธปท.ลดดอกเบี้ย หวังแก้หนี้รายย่อยทั้งระบบตั้งเป้าเห็นผลใน 6 เดือน 

15 มิ.ย. 2564 | 11:48 น.

นายกฯ ห่วงหนี้รายย่อยพุ่ง สั่งแก้ปัญหาทั้งระบบ ขีดเส้นต้องเห็นผลใน 6 เดือน ส่งสัญญาณถึงธปท. ให้ทบทวนลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ 

 

วันนี้ 15 มิ.ย.64 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ตนได้นำเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชนเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อรับทราบ เนื่องจากมองเห็นถึงปัญหาของประเทศ ถ้าประชาชนยังมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และมีหนี้ตั้งแต่อายุน้อย ต่อไปจะมีผลต่อทั้งชีวิตของเขา ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เช่น หนี้นอกระบบ ซึ่งต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้นและต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ 

“วันนี้เราต้องแก้ปัญหาในภาพรวมให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งหนี้สินกลุ่มต่างๆ ตอนนี้ผมร้อนใจมากที่สุด คือ หนี้ กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) จำนวน 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน, หนี้ครูและข้าราชการ จำนวน 2.8 ล้านบัญชี, หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 27.7 ล้านบัญชี, หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จำนวน 49.9 ล้านบัญชี, ปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน จำนวน 51.2 ล้านบัญชี” 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ มาตรการระยะสั้นต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือน เช่น การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน คือ สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ 

สำหรับประชาชนต้องไปดูการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนของครูและข้าราชการก็ ต้องดูหนี้สินที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งต้องไปปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กรณีเหล่านี้จะรวมไปถึงหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ด้วย จึงได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย และการกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องที่สอง การไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ., หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ, หนี้สหกรณ์ และให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs จัดให้มี Soft Loan สำหรับ SMEs ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ 

นอกจากนี้จะต้องไปดูการเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจำนองเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินจำนวนจำกัดอยู่ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้

ส่วนมาตรการระยะต่อไป การเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะต้องออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนให้มีราคาถูกลง ตลอดจนการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพิ่มการดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย 

"หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ผมมีข้อมูลว่าก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 8.8 หมื่นล้านบาท แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท” นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำพูดนายกฯเป็นเหตุ ทิ้งหุ้นแบงก์ กดดันหุ้นไทยปิดลบ 10.75 จุด