ราคาทองตลาดนิวยอร์กปิดพุ่ง 29.5 ดอลลาร์

17 พ.ค. 2564 | 23:59 น.

ราคาทองตลาดนิวยอร์กปิดพุ่ง 29.5 ดอลลาร์ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย-ดอลล์อ่อนหนุนตลาด

ราคาทอง สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือนเมื่อคืนนี้ (17 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินคาด

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 29.5 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,867.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 90.9 เซนต์ หรือ 3.32% ปิดที่ 28.274 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 21.7 ดอลลาร์ หรือ 1.77% ปิดที่ 1,244.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 2,895.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีราคาถูกลงและมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.17% สู่ระดับ 90.1661 เมื่อคืนนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ลดลง 2 จุด สู่ระดับ 24.3 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 25.0

ขณะที่ผลการสำรวจของสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน (NAHB/Wells Fargo Housing Market Index) ทรงตัวที่ระดับ 83 ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินกู้จำนองที่ระดับต่ำ แต่ก็ถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 27-28 เม.ย. ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันพุธนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดาวโจนส์ปิดลบ 54 จุด วิตกเงินเฟ้อกดดันนักลงทุนขายหุ้นเทคโนโลยี