คลัง เตรียมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟส3” เพิ่ม 16 ล้านสิทธิ์

06 พ.ค. 2564 | 07:15 น.

“คนละครึ่ง เฟส3” คลัง เตรียมเปิดลงทะเบียน ให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ เพิ่มอีก 16 ล้านสิทธิ์ ขณะที่คนเคยได้รับสิทธิ์แล้ว 15 ล้านคน ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย 4 มาตรการ โดยจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ได้แก่ โครงการ “คนละครึ่ง เฟส3”  โดยกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 31 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ที่เคยได้สิทธิ์ ในโครงการคนละครึ่งเฟส 1 และ เฟส 2 แล้ว จำนวน 15 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิ์ ได้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 16 ล้านสิทธิ์  ซึ่งช่วงวันที่จะเปิดให้ลงทะเบียนจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ สำหรับรูปแบบการใช้จ่ายจะเป็นแบบโคเพลย์ โดยรัฐบาลจะโอนเงินเข้าแอปฯ เป๋าตังให้วันละ 150 บาท ทุกวันจนครบ 3,000 บาท

โครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” กลุ่มเป้าหมายจำนวน 13.65 ล้านคน และ โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ” กลุ่มเป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านคน โดยรัฐบาลจะโอนเงินเพิ่มให้เดือนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน และโครงการ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้” กลุ่มเป้าหมายจำนวน 4 ล้านคน เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ โดยรัฐบาลสนับสนุน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาทต่อคน

“4 มาตรการนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการเริ่มหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อให้ทุกคนออกมาใช้จ่ายได้ คาดว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2654 ซึ่งใน 4 มาตรการนี้ประชาชนจะเลือกได้เพียง 1 คนต่อ 1 โครงการเท่านั้น” นางสาวกุลยา กล่าว

กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สศค. ในฐานะโฆษก ก.คลัง

ทั้งนี้ นางสาวกุลยา กล่าวว่า ในส่วนมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ได้แก่ โครงการ “เราชนะ” กลุ่มเป้าหมาย 32.9 ล้านคน และ โครงการ “ม.33 เรารักกัน” กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 9.29 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลจะเพิ่มวงเงินให้อีกคนละ 2,000 บาท โดยกระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมในที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564

พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือได้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดถึง 51 ล้านคน  โดยใช้งบประมาณรวมกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท