ดาวโจนส์ปิดลบ 164.55 จุด หลังเฟดคง'ดอกเบี้ย-วงเงิน QE'

28 เม.ย. 2564 | 23:41 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) ปิดลบ 164.55 จุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามคาด (QE)

         
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,820.38 จุด ลดลง 164.55 จุด หรือ -0.48% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,183.18 จุด ลดลง 3.54 จุด หรือ -0.08% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,051.03 จุด ลดลง 39.19 จุด หรือ -0.28%

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมประกาศว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่เฟดยังคงเน้นย้ำแนวทางที่ใช้มาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 โดยระบุว่า เฟดต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร นอกจากนี้ เฟดระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการสนับสนุนด้านนโยบาย

เควิน ฟลานาแกน นักวิเคราะห์จากบริษัทวิสดอมทรี ฟันด์ในรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า มติการประชุมล่าสุดของเฟดสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน และเฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป

หุ้น 5 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปรับตัวลง นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 0.96% โดยหุ้นไมครอน เทคโนโลยี ดิ่งลง 3.83% หุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 0.6% หุ้นอินเทล ลดลง 0.6% หุ้น Nvidia ปรับตัวลง 0.68%

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 2.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวลง โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปีสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 510,400 ดอลลาร์ ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.17% จากระดับ 3.20% ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค., รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนมี.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน