เศรษฐกิจไทยเสี่ยงทั้งปี หากวัคซีนยังล่าช้า

26 เม.ย. 2564 | 07:48 น.

KKP Research ปรับประมาณการจีดีพีเหลือ 2.2% หลังไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบเศรษฐกิจและแผนการเปิดประเทศ ชี้ฉีดวัคซีนในไทยล่าช้า กระทบเศรษฐกิจเสี่ยงหดตัวตลอดทั้งปี

รายงานข่าวจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร" หรือ "เกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงจาก 2.7% เป็น 2.2% ตามการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่จะกระทบกับการบริโภคและแผนการเปิดประเทศ โดยปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 1 ล้านคนเหลือ 500,000 คนในปีนี้ และในกรณีที่การระบาดยืดเยื้อ คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้เพียง 1.8%

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในไทยถือว่าช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทำให้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงหดตัวเพิ่มเติมได้ตลอดทั้งปีจากการระบาดระลอกใหม่หลังจากนี้ที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก, ความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุขอาจถึงขีดจำกัด, แผนการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลไทยยังคงฝากความหวังไว้กับวัคซีนจากแหล่งเดียว และแม้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้วแต่การติดเชื้ออาจจะไม่ได้ลดลงในทันที

ขณะที่ หากนโยบายด้านวัคซีนยังไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงหดตัวจะต้องอาศัยการเยียวยาและแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินซึ่งจะเป็นเพียงการซื้อเวลาและแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจและครัวเรือนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางออกสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งจัดหาวัคซีนให้คนไทยให้ได้เร็วที่สุด

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงทั้งปี หากวัคซีนยังล่าช้า

"การระบาดระลอกใหม่จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐและความวิตกกังวลของผู้บริโภค สถานการณ์การระบาดในรอบนี้รุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมาในเดือนมกราคม จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่าในรอบก่อนมาก  ในครั้งนี้คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาด"

ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนในหลายประเทศทำได้เร็วและหลายประเทศจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่ภายในปีนี้ ในปัจจุบันประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาสามารถฉีดวัคซีนได้มากถึงวันละกว่า 3 ล้านโดสทำให้คาดการณ์ได้ว่าประเทศสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในไตรมาส 2-3 ของปีนี้ ในขณะที่ฝั่งยุโรปคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 3-4 หมายความว่าประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะสามารถกลับมาเปิดประเทศได้เต็มที่ได้อีกครั้งภายในปีนี้  และจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ คาดว่าในระยะสั้น นโยบายการคลังจะยังคงเน้นการใช้มาตรการเยียวยาประเภทเงินโอนต่อไปอีก โดยจะใช้งบประมาณจากวงเงิน พรก. เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ไปตลอดปีนี้ ถึงแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้มาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงทั้งปี หากวัคซีนยังล่าช้า