“อาคม” เล็งขยายฐานภาษีหลังเศรษฐกิจฟื้น

24 มี.ค. 2564 | 05:42 น.

“อาคม” ไม่ห่วง “พักทรัพย์ พักหนี้” ทำรายได้รัฐหด ชี้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นเตรียมขยายฐานภาษี ดึงคนเข้าสู่ระบบเพิ่มรายได้เข้ารัฐ พร้อมคาดภาคท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเป็นบวกชัดในปี66

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” วงเงิน100,000 ล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติให้ช่วยเหลือภาคธุรกิจล่าสุด โดยกระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ ซึ่งอาจกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาครัฐนั้น มองว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังออกมาตรการลดภาษีให้ทุกภาคส่วนอยู่แล้ว ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐ ก็ใช้เท่าที่จำเป็น และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ภาครัฐก็มีแผนในการขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ 

พร้อมกันนี้ยังกล่าวเห็นด้วยกับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะใช้เวลา 5 ปี จึงจะฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากก่อนเกิดโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 40 ล้านคน แต่ปลายปี 64 ไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ จึงคาดว่าในปี 2565 ตัวเลขนักนักท่องเที่ยวจะเริ่มขยับขึ้น และเห็นตัวเลขเป็นบวกมากขึ้นในปี2566 ดังนั้นการฟื้นตัวต้องใช้เวลา และจะทำให้รายได้ภาษีที่ส่งเข้ารัฐมากขึ้นด้วย ขณะที่การอนุมัติโครงการใช้จ่ายก็จะมีความเข้มงวดและจะอนุมัติเฉพาะโครงการที่มีจำเป็น และรัฐบาลยังมีพื้นที่ในการกู้เงิน ทั้งในส่วนของกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 

“การลดภาษีเราทำอยู่แล้ว และมีเรื่องการประหยัด รายได้มีเท่าไหร่ก็ใช้จ่ายเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็มีแผนจะขยายฐานภาษีให้คนเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น” รมว.คลัง กล่าว 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังได้กล่าวฝาก 5 โจทย์สำคัญไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้แก่ 1.การอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหาโควิด-19 ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2.การสร้างความเข้าถึงตลาดทุนทั้งการลงทุนและการระดมทุน เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ของประเทศ3.การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุน

4.การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล(ESG) และ 5.การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในมิติการพัฒนา และกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมเน้นย้ำเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์ หรือ กฎเหล็ก ให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเรื่องของ CyberSecurity และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล