โควิดพ่นพิษ ดันหนี้ครัวเรือน สิ้นปีแตะ 89.5%

18 มี.ค. 2564 | 20:25 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังพุ่งต่อ บนความไม่แน่นอน เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว รายได้ประชาชนลด จับตาเม.ย. หลังพ้นมาตรการพักหนี้ธปท. 2.79 ล้านล้านบาท ยันปัญหาหนี้เป็นโจทย์สำคัญหลังวิกฤติโควิด-19 

ผลสำรวจความเห็นครัวเรือน 300 ตัวอย่างช่วงต้นเดือนมีนาคมของศูนย์วิจัย กสิกรไทยพบว่า ส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง 56.2% โดยกลุ่มที่รายได้ลด ยังคงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 70% ซึ่งเป็นประเด็นค่าครองชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) มากกว่า 50% ของรายได้ต่อเดือนซึ่งมีประมาณ 10.8% ของกลุ่มตัวอย่าง จึงมีความเสี่ยงต่อวิกฤติด้านสถานะทางการเงิน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนปี 2564 ยังขยับขึ้นอีก จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนณ ไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 86.6% และคาดว่าไตรมาส 4 จะเพิ่มเป็น 89.2%  และเพิ่มเป็น 89.5% ในปี 2564 จากกรอบหนี้ครัวเรือน 89-91% ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว เนื่องจากประเทศอื่นก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเงื่อนไขเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว บนความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาระหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินทั้งภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี และบุคคลธรรมดาที่เดือดร้อน 

“หากพิจารณาจากหนี้ครัวเรือนที่ประมาณ 14 ล้านล้านบาท ในกลุ่มที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2.79 ล้านล้านบาทคิดเป็น 19.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด”นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว

ที่สำคัญหากเทียบปี 2562 หนี้ครัวเรือนเคยอยู่ที่ 79.9% แต่ภาระหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นในปี 2563 หลังจากเจอโควิด-19 ขณะที่ตัวเลข DSR ปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ที่ 27%ต่อจีดีพี แต่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า DSR อยู่ที่ 39.4%ต่อจีดีพี และผลสำรวจสถานะทางการเงินระดับบุคคลที่ถดถอยลงหลังโควิด-19 เมื่อต้นเดือนมีนาคมพบว่า DSR ขึ้นมาอยู่ที่ 42.8% เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับ 39.4%ต่อจีดีพีเมื่อปี 2562

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยที่ผ่านพ้นจุดยากที่สุดมาแล้ว ซึ่งสินเชื่อที่ขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันทางการเงิน น่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้วเช่นกัน ซึ่งจุดแย่ที่สุด อยู่ในช่วงไตรมาส 2และ3 ปีที่แล้ว แต่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้น น่าจะเริ่มเห็นในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ผ่านมา
ภาวะแช่แข็งหนี้ทั้งพักชำระหนี้ มาตรการช่วยเหลือและเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านที่สามารถลดความเข้มข้นลงเริ่มมีภาพที่ดีขึ้น 

ดังนั้น มองไปข้างหน้า ภาระหนี้ครัวเรือนยังเป็นโจทย์หลังผ่านวิกฤติโควิด ซึ่งทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวและอยู่ในระดับตํ่า 1-2ปี แต่หากผ่านพ้นภาวะวิกฤติ คงต้องพิจารณาจังหวะปรับทิศอัตราดอกเบี้ยในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบภาระหนี้ครัวเรือน ขณะเดียวกันโอกาสที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่บนเงื่อนไข “รายได้และการมีงานทำต้องดีขึ้นแล้ว” และประเด็นการออมภาคบังคับจะเป็นโจทย์ระยะยาว

ในแง่ธุรกิจนั้น ถ้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ในลักษณะที่ครัวเรือนเปลี่ยนไปจากภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมการใช้จ่ายจะเปลี่ยนไปด้วยข้อจำกัด ดังนั้นต้องทำธุรกิจแบบ New Normal ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลงและประคองการบริโภคไว้ 

ส่วนสถาบันการเงิน เมื่อหนี้เข้ามาตรการผ่านสูงสุดแล้ว แต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะประคองไว้ และยังไม่รวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งบนเงื่อนไขเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงอีกมาก โจทย์ของสถาบันจึงยังคงต้องดูเรื่องคุณภาพหนี้หรือคุณภาพสินทรัพย์ต่อไปอีก 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย โดยปีนี้มองแนวโน้มของเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.12% 

ด้านดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนยังไม่มีแง่มุมที่เป็นทางออกใหม่ แต่มีข้อสังเกตว่า คนที่มีปัญหาชำระหนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้น้อย แต่ DSR ที่อยู่ในระดับดับสูงนั้น ไม่รู้ว่าเป็นหนี้ที่มาจากคนจนหรือคนรวย เพราะช่วงโควิด ตลาดประเมินภาวะเศรษฐกิจแย่ การขายบ้านและรถยนต์น่าจะลด แต่ปรากฏว่า ยอดขายรถยนต์และบ้านยังขายได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจจะไม่สะท้อนภาพตรงนัก และถ้าดูโครงสร้างอาจจะไม่น่ากลัวเท่าตัวเลขภาพรวม เพราะระยะหลังอาจเป็นคนมีกำลังเป็นผู้ก่อหนี้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564