กูรูแนะหาจังหวะสะสมหุ้น

07 มี.ค. 2564 | 22:00 น.

นักวิเคราะห์ 3 บล. มองหุ้นไทยปี 64 ฟื้นตัว หลังเศรษฐกิจไทยดีขึ้น สภาพคล่องในโลกมีมาก และกำไรบจ.ฟื้น คาดกรอบดัชนีสิ้นปีที่ 1,600-1,670 จุด แนะนักลงทุนหาจังหวะเข้าซื้อสะสม เชื่ออีก 12 เดือนข้างหน้า “หุ้นชนะทุกตลาด”

ในงานสัมมนา “จับสัญญาณลงทุนยุค New Normal”  จัดโดย “หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ” ซึ่งได้รับเกียรติจากนักวิเคราะห์เด่น 3 ท่านคือ นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด (มหาชน)  นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบีเอส จำกัด (มหาชน) และนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) มาชี้ให้เห็นมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2564  

นายอิสระกล่าวว่า คาดดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,670 จุด เป็นเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2563 ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องจากสภาพคล่องในโลกที่มีจำนวนมาก โดยดัชนีหุ้นไทยปัจจุบันที่ปรับขึ้นสูง แนะนำนักลงทุนให้ชะลอพิจารณาธีมการลงทุนที่เหมาะสมและราคาหุ้นที่ควรเข้าไปซื้อได้ ซึ่งมองว่าอาจจะปรับขี้น 1-2 วัน จากนั้นจะมีความเปราะบาง เป็นจังหวะที่เข้าไปลงทุนได้ 

อิสระ อรดีดลเชษฐ์

อย่างไรก็ตาม มองกลยุทธ์การลงทุนในธีม “เปิดเมือง” จากการเริ่มมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมถึงก่อนการเปิดเมืองอย่างจริงจัง ให้หาหุ้นที่ราคายังไม่ปรับขึ้นมาก และไม่แพง นอกจากนี้ หุ้นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มโรงพยาบาล หลังจากที่ผ่านมาผู้ป่วยจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ซึ่งในระยะกลาง-ยาว สามารถลงทุนได้ และให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี แนะนำหุ้น บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH), บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) และ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) (MAJOR) 

“ปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลกยังคงมีความกลัว คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับหุ้นที่ปรับลดลง แต่ไม่จำเป็นที่บอนด์ยีลด์ขึ้น แล้วหุ้นต้องลง การที่หุ้นลงนั้นจะมาจากช่วงที่เงินเฟ้อแรง แต่ปัจจุบันเงินเฟ้อยังไม่แรง หุ้นอาจจะขึ้นพร้อมบอนด์ยีลด์ได้ จากการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ซึ่งต้องตัดความกลัวส่วนนี้ออกไปก่อน ขณะที่ ไวรัสโควิด-19 กำลังเริ่มอ่อนแรง จากการมีวัคซีน และภาคธุรกิจเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ มองว่าอีก 12 เดือนข้างหน้า หุ้นจะชนะทุกตลาด” 

นายมงคลกล่าวว่า คาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้ปิดไม่เกิน 1,600 จุด มาจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเริ่มฟื้นตัว รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กลับมาฟื้นตัวได้ โดยกลยุทธ์การลงทุนปีนี้จะไม่ใช่อุตสาหกรรมเดิมที่น่าสนใจ แต่จะเป็นกลุ่มนวัตกรรมใหม่อย่าง แบตเตอรี่ และหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาดีขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในช่วงนี้จะต้องพิจารณาเป็นรายตัว เนื่องจากยังรอกระแสเงินทุนจากต่างชาติว่าจะไหลเข้าจริงหรือไม่ 

มงคล พ่วงเภตรา

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำลงทุนหุ้น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มากำไรดี แนวโน้มอุตสาหกรรมไปได้สวย คือ กลุ่มที่อิงรายได้ EV ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA), กลุ่มโลจิสติกส์ ได้แก่ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE), กลุ่มผู้ขายสินค้าไอที ได้แก่ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SYNEX) และกลุ่มอาหารเพื่ออนาคต ได้แก่ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) ส่วนกลุ่มที่ฟื้นหลังจากผ่านโควิด-19 แล้ว คือ กลุ่มที่อิงรายได้จากการท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) 

นายกรภัทรกล่าวว่า คาดดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น อีกทั้งคาดว่าในอีก 1 เดือนจากนี้ดัชนีจะปรับขึ้นอีก หากนักลงทุนจะลงทุนตามในช่วงนี้ สามารถเก็งกำไรได้ แต่ต้องอยู่ในจุดที่ถอยออกมาได้ ซึ่งในช่วงหลังจากสิ้นเดือนมีนาคมจะต้องระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น จากการที่ตลาดโลกยังปรับฐานไม่แล้วเสร็จ ขณะที่ กลยุทธ์การลงทุน หากลงแรงให้เข้าซื้อสะสม

กรภัทร วรเชษฐ์

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุน แนะนำหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัย และได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูของเศรษฐกิจ คือ กลุ่มวัฏจักร ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนยังมีความกังวลกับราคาสุกร แต่เชื่อว่าราคาจะสุกรจะยังทรงตัวได้ในระดับสูงช่วงครึ่งปีแรกนี้ เนื่องจากการผลิตในจีนยังไม่เร่งขึ้นมาก และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) มองว่ามีการรับข่าวร้ายไปพอสมควรแล้ว โดย CPALL ได้พัฒนาสินค้าและแพลตฟอร์มธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งสินค้าที่ถือว่าทำได้ดีและตอบโจทย์ นอกจากนี้ ราคาหุ้นยังไม่แพงมาก จึงคาดว่าจะมีการเติบโตไปกับเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี 

ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564