หุ้นแตกพาร์ไม่สนโควิด

31 ม.ค. 2564 | 23:15 น.

แม้ช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นหลายบริษัทจะรับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กดดันให้ราคาดิ่งลงอย่างน่าใจหาย แต่บางบริษัทก็สามารถปรับขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งราคาปรับขึ้นสูงทำให้นักลงทุนซื้อยาก อาจจะมีการเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยการปรับลดมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) หรือเรียกง่ายๆว่า “แตกพาร์” เพื่อให้ราคาลดลง ปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้น นักลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่สามารถเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ราคาสูงจนเอื้อมไม่ถึงกันเลยทีเดียว

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)พบว่า ในปี 2563- เดือนมกราคม 2564 มีบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ที่มีการแตกพาร์จำนวน 14 ราย ซึ่งบจ.ที่นักลงทุนให้ความสนใจคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) เพราะการซื้อขายด้วยพาร์ใหม่ที่หุ้นละ 1.00 บาท มีราคาเปิดที่ 34.51 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 1.91% จากปัจจุบันอยู่ที่ 33.50 บาท ซึ่งเดิมพาร์หุ้นละ 5.00 บาท โดยราคาหุ้นปิดก่อนเปลี่ยนพาร์อยู่ที่ 174.50 บาท จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่ 45.00 บาท อีกทั้งยังเคยปรับขึ้นไปสูงสุดถึง 203.00 บาท และมูลค่าซื้อขายของหุ้น GULF ก่อนการแตกพาร์เคยสูงถึง 56,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ GULF เข้าจดทะเบียนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560

ขณะที่อีกบจ.ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19คือ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT) ที่เข้าซื้อขายวันแรกวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ด้วยราคาไอพีโอ 34.00 บาท พาร์หุ้นละ 1.00 บาท อีกทั้งเคยปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 94.50 บาท จากนั้นใช้เวลาเพียง 6 เดือน ในการเปลี่ยนแปลงพาร์ใหม่เป็นหุ้นละ 0.50 บาท เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 โดยราคาหุ้น STGT แตกพาร์วันแรกอยู่ที่ 37.63 บาท ส่วนราคาก่อนแตกพาร์อยู่ที่ 75.25 บาท และปรับขึ้น 8.55% จากปัจจุบันอยู่ที่ 41.25 บาท

ความเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีการลดพาร์

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กรุงศรี จำกัด ระบุว่า STGT ได้เปลี่ยนราคาพาร์จากหุ้นละ 1.00 บาท เป็น 0.50 บาท ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2564 ทำให้มีปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และมีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นมากขึ้น นอกจากนี้ STGT ยังได้ปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลจากอัตราการจ่ายเงินปันผลอย่างน้อย 30% เป็น 50% ของกำไรสุทธิ ส่วนปี 2564 จะจ่ายเงินปันผลทุกไตรมาส

ด้านบล.ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า คาดจะยังคงเกิดสภาวะถุงมือโลกขาดตลาดไปจนถึงปี 2565 ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดของผู้ขายปรับกลยุทธ์มาขายราคา Spot เกือบทั้งหมด ส่งผลให้ Margin ปรับเพิ่มเป็น 60% จากเดิมที่ 40% ทั้งนี้ ประเมินกำไรปี 2563 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ถึงแม้จะยังมีความเสี่ยงจากของความล่าช้าในการขยายโรงงาน และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การแตกพาร์ของบจ.มีข้อดี คือ นักลงทุนสามารถเข้าซื้อได้ง่ายขึ้นจากราคาที่ลดลง แต่กลับกันเมื่อมีจำนวนหุ้นที่มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นช้าลง ซึ่งมองว่าไม่ได้มีผลต่อราคาหุ้นมากนัก เพราะสิ่งที่มีผลต่อราคาคือปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมากกว่า หากหุ้นมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว จะทำให้มีการเข้าซื้อเก็งกำไร และราคาปรับขึ้นได้ดีก่อนที่จะมีการแตกพาร์

“มองว่าเป็นพฤติกรรมการซื้อตามกันของนักลงทุน ที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าในอดีตราคาหุ้นหลังจากมีการแตกพาร์ มักจะปรับขึ้นเสมอทำให้เกิดการซื้อพร้อมกัน อีกทั้งการแตกพาร์ยังทำให้มีคนเล่นมากขึ้น จากจำนวนหุ้นที่เยอะขึ้น เช่น จากเดิมหุ้นละ 4,000 บาท ซื้อได้ 5 คน แต่พอแตกพาร์แล้วสามารถซื้อได้ถึง 200 คน ขณะเดียวกันการแตกพาร์ไม่ได้มีผลต่อราคาเพราะหุ้นที่มีจำนวนน้อย ราคาจะสวิงมากกว่า ด้วยความหนัก จึงทำให้การขยับช้าลง”

 

หน้า 14  ฉบับที่ 3,649 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564