ธปท.ต่ออายุมาตรการ ช่วยลดแรงกดดันเอ็นพีแอลและสินเชื่อไม่ชะลอมากแต่ตั้งสำรองยังสูงในปี 2564

13 ม.ค. 2564 | 06:38 น.

ธปท.ต่ออายุมาตรการช่วยรายย่อย-ส่วนภาคธุรกิจนั้น ต้องช่วยทั้งเพิ่มสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองกิจการและการจ้างงานโดยจะลดความเสี่ยงปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินระหว่างไตรมาส1-2ปีนี้คาดว่าจะมีลูกหนี้รายย่อยขอรับความช่วยเหลือขยับเพิ่่มขึ้นจากเดือนพ.ย.หลังธปท.ต่ออายุมาตรการเน้นปรับโครงสร้างหนี้และลดภาระทางการเงิน  แม้ช่วยลดแรงกดดันเอ็นพีแอลทั้งปีอยู่ที่ 3.53%และสินเชื่อไม่ชะลอตัวลงมากน่าจะประคองอัตราเติบโตประมาณ 3.0-4.5% ในปี 2564 แต่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ยังมีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองเพิ่มสูง  ส่วนของภาคธุรกิจนั้น ต้องช่วยทั้งเพิ่มสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองกิจการและการจ้างงานโดยจะลดความเสี่ยงปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

 ……………………………….. 

คงต้องยอมรับว่า การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่ลากยาวข้ามมาในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังรอเวลาฟื้นตัว กลับต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมปัญหาความเปราะบางทางการเงิน การขาดสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม และล่าสุด (12 ธ.ค. 2564) ธปท. ได้ขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือ และให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวเป็นมาตรการในเบื้องต้นสำหรับรายย่อยที่ส่วนใหญ่ดำเนินการต่อเนื่องจากที่ทำไปก่อนหน้า ซึ่งทำให้ยังคงต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับภาคธุรกิจในช่วงหลังจากนี้ด้วยเช่นกัน

              ธปท. ต่ออายุการสมัครเข้ามาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยออกไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2564 หลังจากช่วงเวลาการสมัครเข้าโครงการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย ตลอดจนการฟื้นกำลังซื้อ-รายได้ของประชาชนทั่วไปกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

รายละเอียด (ตามตารางด้านล่าง) ลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทเงินทุนหมุนเวียนที่เข้าโครงการจะยังได้รับการผ่อนปรนภาระผ่อนชำระขั้นต่ำ และสามารถแปลงหนี้เป็นระยะยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำลงได้ ขณะที่ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและจำนำทะเบียนจะได้รับการปรับลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% และคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ส่วนลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อนั้น ความช่วยเหลือหากสมัครเข้าโครงการฯ จะอยู่ในรูปของการเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไป 3 เดือน หรือ ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ และความช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้สินเชื่อบ้าน จะอยู่ในรูปของการเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น 3 เดือนและลดดอกเบี้ยตามเหมาะสม หรือ ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ นอกจากนี้ในส่วนของลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ก็จะได้รับการพิจารณาชะลอการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน

สรุปมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีการขยายเวลาจนถึง มิ.ย. 2564

ประเภทสินเชื่อ

มาตรการระยะที่ 1

(สิ้นสุดแล้ว)

มาตรการระยะที่ 2

(สิ้นสุดแล้ว)

ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

รับมือการระบาดโควิดระลอกใหม่

บัตรเครดิต

 

*ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น

5% (2563-2564)

8% (2565) และ 10% (2566)

*เปลี่ยนเป็น term loan ดอกเบี้ยต่ำลง

*ลดเพดานดอกเบี้ยถาวรเหลือ 16%

*ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น

5% (2563-2564)

8% (2565) และ 10% (2566)

*เปลี่ยนเป็น term loan 48 เดือน ดอกเบี้ยไม่เกิน 12%

 

*ยังได้รับการลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 5% (2564) ตามมาตรการที่ประกาศก่อนหน้านี้

*เปลี่ยนเป็น term loan 48 เดือน หรือ ขยายเวลาการชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 12%

สินเชื่อส่วนบุคคล

บัตรกดเงินสด หรือวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน

*ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น

5% (2563-2564)

8% (2565) และ 10% (2566)

*เปลี่ยนเป็น term loan ดอกเบี้ยต่ำลง

*ลดเพดานดอกเบี้ยถาวรเหลือ 25%

 

*ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำตามความเหมาะสม

 

*เปลี่ยนเป็น term loan 48 เดือน ดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

 

 

*ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำตามความเหมาะสม

 

 

*เปลี่ยนเป็น term loan 48 เดือน หรือ ขยายเวลาการชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

ผ่อนชำระเป็นงวด และ

จำนำทะเบียน     

* เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนสำหรับสถาบันการเงิน

* เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ ลดค่างวดลง 30% 6 เดือนสำหรับนอนแบงก์

*ลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 25% สำหรับสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวด และเหลือ 24% สำหรับจำนำทะเบียน

 *ลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% และคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

 

 

 

*ลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% และคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

สินเชื่อเช่าซื้อ

*เลื่อนชำระเงินต้น+ดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ พักชำระต้น 6 เดือน

หมายเหตุ: จำกัดวงเงิน

*เลื่อนชำระเงินต้น+ดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ 

หมายเหตุ: ไม่จำกัดวงเงิน

*เลื่อนชำระเงินต้น+ดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ 

 

สินเชื่อบ้าน

*พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม

 

 

หมายเหตุ: จำกัดวงเงิน

*เลื่อนชำระเงินต้น+ดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น 3 เดือนและลดดอกเบี้ยตามเหมาะสม หรือ ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ 

หมายเหตุ: ไม่จำกัดวงเงิน

*เลื่อนชำระเงินต้น+ดอกเบี้ย 3 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น 3 เดือนและลดดอกเบี้ยตามเหมาะสม หรือ ลดค่างวดโดยขยายระยะเวลาชำระหนี้   

ที่มา: ธปท. รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย                                                                                                  

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี คาดว่า การขยายเวลาการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินออกไป โดยเลื่อนเวลาการชำระเงินหนี้ ยืดอายุหนี้ให้มีระยะเวลายาวขึ้น รวมถึงการให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องเพิ่มเติม น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อลงบางส่วน ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพรวมสินเชื่อในปีนี้อาจไม่ชะลอตัวลงมากแม้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น

เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศน่าจะสามารถประคองอัตราการเติบโตในกรอบประมาณ 3.0-4.5% ในปี 2564 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2563 ที่ 4.5% ขณะที่การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ที่จะมีผลถึงสิ้นปี และการเร่งจัดการหนี้เสียในเชิงรุกก็น่าจะช่วยชะลอ NPLs ทำให้สัดส่วน NPLs ทยอยขยับขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 3.53% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2564 จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.35% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2563

              อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จุดจับตาสำคัญหลังจากนี้ ก็คือ การติดตามจำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่ที่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามแรงกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างไตรมาส 1/2564 และไตรมาสที่ 2/2564 และอาจทำให้สัดส่วนหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน (ไม่รวม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) มีโอกาสขยับขึ้นจากระดับ 23.5% ของสินเชื่อรายย่อยรวม ณ พ.ย. 2563 หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีลูกหนี้ประมาณ 4 ล้านบัญชี วงเงินหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 1.15 ล้านล้านบาท 

ข้อมูลความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องชี้ระดับแรงกดดันที่มีต่อปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับมานิ่งขึ้นอีกครั้ง (Post COVID-19) แล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวทางการตั้งสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากสัญญาณจากฝั่งลูกหนี้ยังมีความเปราะบาง ก็อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ได้ลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

              ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายเวลาสำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยรอบนี้เป็นการดำเนินการในเบื้องต้น เนื่องจากแนวทางเกือบทั้งหมดเป็นการต่ออายุของมาตรการฯ รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งเน้นไปที่การเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย และการช่วยลดภาระทางการเงิน และแม้ว่าแนวทางดังกล่าวจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงมาตรการเฉพาะสำหรับภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ แต่คาดว่า สถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะยังคงติดตามดูแลและให้ความช่วยเหลือสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการในแต่ละภาคธุรกิจ/พื้นที่ของสถานประกอบการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาคธุรกิจนั้น ต้องการความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องและการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน และเพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ให้สามารถประคองกิจการ และรักษาระดับการจ้างงาน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะวนกลับมาเป็นปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจในระยะถัดๆ ไป