ธนาคารพาณิชย์ กับบทบาทการเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace

16 ม.ค. 2564 | 04:15 น.

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย : อริสา เพ็ญดารา ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  

ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เวลาเราจะซื้อของที ก็ต้องไปตลาดหรือไม่ก็ห้างสรรพสินค้าซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้าน ต้องใช้เวลาเดินทางสักหน่อย ใครจะนึกว่าทุกวันนี้ เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือและแอปพลิเคชันออนไลน์อย่าง“แพลตฟอร์ม e-Marketplace” ก็สามารถช้อปปิ้งแบบ anywhere anytime พร้อมรอรับสินค้าและบริการส่งตรงถึงหน้าบ้าน หมดห่วงเรื่องเว้นระยะห่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19

 

ฝั่งร้านค้าผู้ขายเอง เมื่อเปลี่ยนช่องทางไปขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม e-Market place ทำให้ไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาทำเลที่ตั้งของตลาด หรือห้างสรรพสินค้าอีก ช่วยลดต้นทุนค่าสถานที่ ค่านํ้า ค่าไฟต่างๆ สินค้าและบริการที่ขายบนแพลตฟอร์ม e-Marketplace มีได้หลากหลายและอาจเป็นอะไรที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้นก็ได้ เช่น ซื้อ-ขายรถยนต์มือสอง ต้นไม้หายาก ไปจนถึงการให้บริการต่างๆ อาทิ จองที่พัก เที่ยวบิน เรียกรถแท็กซี่ บริการขนส่งสินค้า ซื้อและจัดส่งอาหาร (food delivery) ฟังเพลงหรือชมภาพยนตร์ออนไลน์

 

อย่างไรก็ดี เมื่อทุกอย่างย้ายขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์และการรับ-จ่ายเงินต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง สิ่งที่แพลตฟอร์ม e-Marketplace จะขาดไปไม่ได้คือ ระบบการชำระเงิน (payment) ที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีความชำนาญและมีระบบโครงสร้าง payment ที่แข็งแกร่ง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์ม e-Market place ประสบความสำเร็จ จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้มีแพลตฟอร์ม e-Marketplace รายใหญ่มากมายที่เป็นพันธมิตร(partner)กับธนาคารพาณิชย์ 

 

ธนาคารพาณิชย์ กับบทบาทการเป็นแพลตฟอร์ม e-Marketplace

นอกจากบทบาทผู้ให้บริการ payment แล้ว ธนาคารพาณิชย์ ก็สามารถใช้ความรู้และทรัพยากรด้านเทคโนโลยีที่มี นำมาต่อยอดพัฒนาและพลิกบทบาทไปเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม e-Marketplace ได้เช่นกัน ประโยชน์สำคัญนอกจากลูกค้าจะได้ซื้อ-ขายสินค้าได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถเสนอสินเชื่อหรือบริการทางการเงินได้มากขึ้นด้วย ผ่านการเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรม (behavior data) ของลูกค้ายกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ขายสินค้ามียอดขายสูงและได้รับคะแนนจากผู้ซื้อดี ธนาคารพาณิชย์ก็อาจเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้ผู้ขายนำไปเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจได้

 

ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อ กรณีผู้ซื้อจ่ายเงินซื้อสินค้าราคาสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อาจได้รับการเสนอโปรแกรมผ่อนชำระ เพื่อลดภาระการจ่ายเงินก้อน แต่หากผู้ซื้อเลือกจ่ายครบในทีเดียว ธนาคารพาณิชย์อาจวิเคราะห์ได้ว่า เป็นบุคคลที่มีกำลังซื้อสูง ผู้ซื้อก็อาจได้รับเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากหรือผลิตภัณฑ์ลงทุนที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้น การใช้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าหรือข้อมูลทางเลือก (alternative data) แบบที่กล่าวมานี้เอง จะช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ให้สามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักถึงประโยชน์ของข้อมูลทางเลือกดังกล่าว จึงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการแพลตฟอร์ม e-Marketplace ได้ แต่ข้อมูลของลูกค้าที่นำมาใช้ต้องได้รับความยินยอม (consent) จากลูกค้าก่อน และธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงบทบาทในฐานะ ‘ตัวกลาง’ ไม่เข้าไปเป็นผู้ขายสินค้าและบริการเสียเอง ไม่เข้าไปรับผิดชอบคุณภาพสินค้าและบริการของลูกค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่อาจกลับมากระทบความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้รับเงินฝากจากประชาชน รวมถึงต้องไม่เข้าไปเป็นผู้ให้บริการอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริง(real sector) อย่างการผลิตสินค้าให้ (manufacturing) การเข้าไปเป็นผู้ให้บริการขนส่ง (logistic) ผู้ให้บริการบรรจุและออกแบบหีบห่อผลิตภัณฑ์ (packaging) ผู้ให้บริการสินค้าคงคลัง (stock)

 

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการแพลตฟอร์ม e-Marketplace ด้วย เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ด้านปฏิบัติการ ด้าน IT ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้บทบาทการเป็นแพลตฟอร์ม e-Market place ของธนาคารพาณิชย์ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อลูกค้าประชาชน ต่อตัวธนาคารพาณิชย์เองตลอดจนระบบเสถียรภาพการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธปท.

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.ปลื้มพร้อมเพย์พุ่งแตะ 157 ล้านครั้ง

โควิดหนุน ‘บิทคอยน์’โต รับยุคสินทรัพย์ดิจิทัล

บริหารเงินอย่างไรให้อยู่รอดในยุคCOVID-19

เรามองค่าเงินบาท ปี 2021 อย่างไร 

แบงก์ หวั่นข้อมูลส่วนบุคคลรั่ว หลังกฎหมายใหม่บังคับใช้