ออกจากงาน อย่างเป็นสุข (ตอนที่ 1)

13 ม.ค. 2564 | 01:05 น.

การออกจากงาน เป็นเรื่องปกติมาก หากแต่คนส่วนหนึ่งมักเปลี่ยนงานแบบไม่ได้เตรียมตัวเองก่อน



ใครเป็นมนุษย์เงินเดือนบ้าง? ยกมือขึ้น!!! ใครเคยกลัวเรื่องการไม่มีเงินเดือนประจำ ถูกให้ออกจากงานบ้าง? ยกมือขึ้น!!! หรือ ใครเบื่องานแล้ว อยากลาออกบ้าง? ยกมือขึ้น!!!

 

ถ้าคุณยกมือครั้งใดครั้งหนึ่ง คุณต้องอ่านเรื่องนี้ หรือหากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน คุณก็ต้องอ่านเรื่องนี้ เพื่อว่าหากวันใดคุณต้องการพ้นสภาพการเป็นมนุษย์เงินเดือน คุณจะได้ลาออกอย่างเป็นสุข พร้อมกับเงินที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขทางใจ งั้น! เชิญอ่านกันเลยค่ะ

 

กริ๊ง กริ๊ง .. “เธอ.. ฉันว่า ฉันจะออกจากงาน เจ้านายแย๊บมาว่าให้เลือก” เสียงปลายสายกล่าว

เรา “จริงดิ! แล้วถ้าออกจริง จะไปทำอะไรต่อ แล้วเตรียมแผนชีวิต แผนการเงินไว้หรือยัง?”

เสียงปลายสาย “ยัง! ถึงโทรมาหานี่ไง มาพบกันด่วน”

 

นี่เป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นของเสียงปลายสายที่ได้รับทางเลือกว่าจะอยู่ต่อหรือออกจากงาน เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่คนหนึ่งคนต้องออกจากงานหรือเปลี่ยนงาน หากแต่คนส่วนหนึ่งมักเปลี่ยนงานแบบไม่ได้เตรียมตัวเองก่อน เพื่อให้สามารถออกจากงานได้อย่างเป็นสุขและอุ่นใจ มีคำถามอยู่หลายคำถามสำคัญ ที่ควรถามตัวเองก่อนออก เพราะการออกจากงานนั้น เป็นมากกว่าเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกในที่ทำงาน แต่ยังหมายรวมถึงเรื่องของปากท้องที่ยุคเศรษฐกิจ COVID แบบนี้ด้วย ยุคที่มีทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ รู้จักตัวเองให้แน่ชัด น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
 

 

คำถามแรกที่น่าจะต้องถามตัวเอง คือ “เราทำงานหนักทุกวันนี้ เพื่ออะไร หรือเพื่อใคร” ขอให้ตอบกับตัวเองอย่างจริงใจ คุณจะเริ่มเห็นว่า คุณต้องวางแผนการทำงานต่อไปอย่างไร

 

เรามีเป้าหมายเหล่านี้หรือไม่?" เป้าหมายเพื่อการศึกษาบุตร เป้าหมายเรื่องการออมเพื่อดูแลบิดามารดา เป้าหมายการศึกษาต่อ รวมถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงิน และเป้าหมายการใช้ชีวิตหลังเกษียณ หากคุณตอบว่า มี อย่างน้อย 1 เป้าหมาย คุณควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หรือปรึกษานักวางแผนการเงินของคุณ

 

ที่สำคัญมากกว่านั้น ในปัจจุบันนี้ “เงินสด” หรือ “Cash” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้ชีวิตคุณยืดหยุ่นได้ ถามตัวเองว่า “เรามีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอสำหรับกี่เดือน?” แน่นอนว่าตามหลักเงินสำรองฉุกเฉินคือ คุณควรมีเงินสำรอง 3-6 เดือนของรายจ่ายแต่ละเดือน แต่ในยุค COVID นี้ คุณอาจจะต้องมีมากกว่านั้น หากคำตอบคือ คุณมีเงินสำรองเพียงพอ และมีแนวโน้มที่จะหางานใหม่ได้ในระยะเวลาที่เงินสำรองยังพอใช้อยู่ คุณก็มีสิทธิ์ที่จะออกจากงานอย่างเป็นสุขแล้วบางส่วน

 

ยังมีอีกบางคำถาม ซึ่งคนทั่วไปมักเห็นเป็นเรื่องไกลตัวหรือลืมคิดไปเลย นั่นคือ "เรามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ หากเราลาออกจากงาน” “หากไม่มี เราเตรียม หรือ ควรเตรียมไว้เท่าไหร่?” หากเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสุขภาพและอุบัติเหตุ จะได้ไม่กระทบกับเงินสำรองของเรา

 

 

กลับมาที่เรื่องของเสียงปลายสาย.. แน่นอนเลยว่า คำถามเหล่านี้ถูกถามเช่นกัน คำตอบที่ได้ออกมาจากผู้หญิงวัย 44 ปี คือ ทุกวันนี้ทำงานหนักเพื่อส่งลูกเรียนให้จบปริญญาตรี (ตอนนี้ลูกอายุ 5 ขวบ) ส่งเงินให้แม่และป้าที่แก่แล้ว และอยากมีเงินใช้ยามเกษียณแบบสบายๆ lifestyle เหมือนเดิม เงินสำรองไม่รู้เหมือนกัน ปกติทำแต่เรื่องลดหย่อนภาษี และแน่นอนว่าหากลาออกไปสวัสดิการทุกอย่างไม่มี เพราะปกติบริษัทให้ และเสียใจมากเพราะทำงานที่นี่มา 15 ปีแล้ว รักงานที่นี่มาก แต่นายก็กดดันเหลือเกิน แถมนายยังบอกว่า.. หากออกจากที่นี่ไป ห้าม! ไปทำงานบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหากรรมเดียวกันในทันที แต่ต้องเว้นวรรค ไปอีก 12 เดือน 18 เดือน ตามแพคเกจที่ให้เลือกเมื่อออกจากงาน

 

แล้วคุณล่ะคะ ตอบว่าอะไรกันบ้าง? มีเงื่อนไขในการออกจากงานหรือเปล่า? คำตอบด้านบนคล้ายๆ ของใครบ้างมั้ย? แล้วหากเป็นแบบนี้ จะออกจากงานอย่างสบายใจได้หรือไม่ หรือต้องทนอยู่ต่อกับสถานที่ที่ไม่สบายตัว สถานการณ์ที่ไม่สบายใจ คำตอบคือ คุณออกได้ค่ะ แค่ต้องเตรียมแผนชีวิตและแผนการเงินกันดีๆ ก่อน งั้น! เรามาเริ่มเตรียมแผนการเงินแบบง่ายๆ กันดีกว่า ระหว่างนี้ เขียนคำตอบกันไว้นะคะ แล้วมาติดตามเนื้อหากันต่อได้ที่ ออกจากงาน อย่างเป็นสุข ตอนที่ 2 นะคะ
 

 

 

โดย : ลาวัณย์ วาริชนันท์ นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย