เบี้ยสุขภาพโต9% แตะ6.5หมื่นล้าน

02 ธ.ค. 2563 | 08:25 น.

กลุ่มประกันชีวิตและวินาศภัย คาดสิ้นปี 63 เบี้ยรับทรงตัวถึงติดลบ 5% อานิสงค์คนใส่ใจสุขภาพและวางแผนเกษียณเพิ่ม ดันเบี้ยสุขภาพพุ่ง 60%

หลังจากกลุ่มธุรกิจประกันภัย และ ธุรกิจประกันชีวิต 16 แห่งที่จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ประจำปี 2563 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 3,142.42 ล้านบาท ลดลง 232.04 ล้านบาทหรือ 6.87% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3,374.46 ล้านบาท และงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 8,427.08 ล้านบาทลดลง 2,071.92 ล้านบาทหรือ 19.73% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10,499 ล้านบาท จากต้นทุนค้าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 

 

นายสาระ ลํ่าซำ นายกสมาคมประกันชีวิต เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยปีนี้ มีแนวโน้มจะติดลบ 2-5% ตามทิศทางเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา 9 เดือน เบี้ยประกันภัย ติดลบ 3% แต่มีสัญญาณดีขึ้นในช่วงที่เหลือ ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพออกมาทำตลาดและประชาชนเปิดใจเรื่องของประกันสุขภาพมากขึ้น ซี่งเห็นได้จากช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เบี้ยสุขภาพเฉพาะในส่วนของประกันชีวิต มีเบี้ยรับ 6.5 หมื่นล้านบาทเติบโตขึ้น 9%

เบี้ยสุขภาพโต9% แตะ6.5หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม การปรับลดลงของเบี้ยประกันรับ ส่วนหนึ่งมาจากเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ที่หดหายไปบางส่วน เพราะเบี้ยประกันรับส่วนใหญ่เกิน 50% อยู่ในกรมธรรม์สะสมทรัพย์ ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิต จึงต้องมองในหลายมิติ ไม่ว่าอัตราเติบโต มูลค่าหรือกำไร เพราะประกันชีวิตเป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งบริษัทผู้ให้บริการต้องให้ความสำคัญในแง่ของการบริหารจัดการค่าเบี้ยที่รับมาจากลูกค้า 

เบี้ยสุขภาพโต9% แตะ6.5หมื่นล้าน

“ธุรกิจประกันชีวิต เมื่อขายกรมธรรม์และรับเงินมาจากลูกค้าแล้ว ก็ต้องนำเงินไปบริหารจัดการหรือลงทุน ซึ่งต้องพิจารณามูลค่าในอนาคตระยะยาว หรือตลอดสัญญาของกรมธรรม์ โดยต้องสามารถบอกสาเหตุของผลขาดทุนด้วย สิ่งที่มีความอ่อนไหวที่สุดคือ ดอกเบี้ย หรือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน โดยเฉพาะแนวโน้มยังมีความผันผวน จากที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนในพันธบัตรตราสารหนี้ อายุ 10 ปีปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.4%ต่อปี ซึ่งยังเป็นความท้าทายแต่ในความท้าทาย ก็ยังมีโอกาส เช่น ตอนนี้ด้านสุขภาพมาแรง ส่วนยูนิตลิ้งค์ก็เริ่มมีให้เห็น”

 

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยกล่าวว่า ประกันวินาศภัยทั้งปี น่าจะทรงตัวถึงติดลบ 2% บนสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ติดลบ 6% เพราะสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เบี้ยรับรวมของประกันวินาศภัยติดลบ 4% ซึ่งน้อยกว่าคาด เพราะมี 2 ปัจจัยหนุนคือประกันภัยโควิด-19 และประกันภัยนาข้าว ซึ่งมีเบี้ยรับรวม 5,000 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันสุขภาพปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% โดยมีเบี้ยรับรวมที่ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาทจากปีก่อนที่มี 7 พันล้านบาท

เบี้ยสุขภาพโต9% แตะ6.5หมื่นล้าน

“ปีนี้ธุรกิจประกันภัยถือว่า โชคดี เพราะมีเบี้ยประกันโควิดและประกันข้าวที่เพิ่มขึ้นพิเศษ ขณะที่ความเสียหายจากอัตราการเคลมสินไหม(LOSS) รถยนต์ลดลง 3-4% ทำให้หลายบริษัทมีกำไรจากการรับประกันดี แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่ลำบากสำหรับการดำเนินธุรกิจปกติ ขณะที่กลุ่มประกันภัย ต้องรออานิสงค์จากเบี้ยประกันภัยโควิดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาช่วย เพราะเราขายกรมธรรม์โควิดตํ่า 50 ดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่เขาซื้อกัน 300 ดอลลาร์” 

 

นายชวลิต ทองรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายขาย บมจ.ฟิลลิป ประกันชีวิตกล่าวว่า หลายบริษัทที่หยุดขายประกันแบบสะสมทรัพย์ หันไปขายผลิตภัณฑ์เพื่อความคุ้มครองมากขึ้น ทำให้เบี้ยรับลดลงคาดว่า ทั้งปีเบี้ยรับรวมจะทรง ตัวหรือติดลบ 1%จากปีก่อน โดยช่วงปลายปีนี้ตลาดน่าจะคึกคักขึ้น จากประกันแบบบำนาญที่น่าจะเริ่มตีตื้นขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยบวกคือ ไตรมาส4 หรือปลายปี ประชาชนส่วนใหญ่สนใจทำเรื่องหักลดหย่อนภาษีและปัจจัยสังคมผู้สูงอายุที่คนหันมาให้ความสนใจประกันแบบบำนาญ

 

ขณะที่อัตราความคงอยู่หรือเบี้ยต่ออายุของลูกค้าเก่าก็ดีขึ้น เพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศช่วยเหลือลูกค้าที่ถูกกระทบจากโควิด-19 สามารถยืดระยะเวลาชำระเบี้ยได้

เบี้ยสุขภาพโต9% แตะ6.5หมื่นล้าน

“ปลายปี เรามีทั้งแพ็กเกจสุขภาพ แบบบำนาญและแบบประกันที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามผลตอบแทนคุ้มครองชีวิตและครอบครัวมุสลิม ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 1 แสนกรมธรรม์และเบี้ยต่ออายุเกิน 90%ส่วนทั้งปีคาดว่า จะสามารถทำเบี้ยรับรวม 1,500 ล้านบาทตามเป้าหมาย จาก 9เดือนทำได้แล้ว 1,000 ล้านบาทหรือเติบโต 80%” 

นายดลเดช สัจจวีระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัยกล่าวว่า แนวโน้มเบี้ยรับรวมทั้งปีนี้ น่าจะเท่ากับปีก่อนซึ่งมีเบี้ยรับรวม 36,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 80-85% มาจากพอร์ตประกันภัยรถยนต์ จากที่ผ่านมามีเบี้ยรับเข้ามาแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประกันสุขภาพที่ทยอยเข้ามาจากฐานที่เห็นการเติบโตขึ้น ซึ่งช่วงโควิด-19 ระบาด แม้ตลาดรถยนต์ใหม่ (ป้ายแดง) ออกสู่ตลาดน้อยลง แต่ได้กลุ่มงานตัวแทนและกลุ่มโบรกเกอร์ ทำให้ยอดขายไม่ตกแถมยังเพิ่มขึ้น ทำให้ทดแทนยอดขายที่หายไป 7-8% ช่วง 10 เดือน

เบี้ยสุขภาพโต9% แตะ6.5หมื่นล้าน

“อัตราการเคลมสินไหมทั้งระบบลดลง 3-4%(ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 63) แต่หลังจากนั้นราวเดือนมิถุนายน ยอดการเคลมกลับมาขยับขึ้น หากพิจาณาจากยอดเคลมที่ลดลง 3-4% คาดว่าปีนี้ น่าจะอยู่ที่ 60% เพราะปีนี้อุบัติเหตุน้อย เนื่องจากการใช้รถยนต์ที่น้อยลง” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต้นทุนพุ่งฉุดกำไรประกันลดฮวบ 20%

ธนชาต ส่ง "ทีเอ็ม โบรคเกอร์" รุกนายหน้าประกันชีวิต

"การบินไทย" โล่ง "ทิพยประกันชีวิต" ถอนคำค้านเสนอทำแผน

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,630 วันที่ 26-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563