สบน.ถกรัฐวิสาหกิจเร่งอัดฉีดงบลงทุน

25 ต.ค. 2563 | 05:00 น.

สบน.ไม่ห่วงเบิกจ่ายลงทุนโครงการรัฐปีงบ 63 ตํ่ากว่าเป้า แต่เตรียมเรียกรสก.หารือ เร่งรัดเบิกจ่ายมากขึ้น หวังดันเม็ดเงินลงทุนรัฐเข้าระบบเป็นส่วนหนึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

การปิดประเทศ เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อรายได้ของประเทศอย่างหนัก ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวและรายได้จากการส่งออก การที่จะทำให้รายได้เหล่านี้กลับมาได้เต็มที่่ดั่งเดิม นั่นหมายถึงว่า จะต้องมีวัคซีนที่ออกมาใช้ได้จนมั่นใจพอที่จะเปิดประเทศ เปิดการค้าได้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยคงจะซึมในระดับตํ่าไปแบบนี้อย่างนี้ก็ 2-3 ปี

 

ดังนั้นเครื่องยนต์ในประเทศเท่านั้นที่จะช่วยประคับประคองและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาสตาร์ตติดได้อีกครั้ง ซึ่งนอกจากการกระตุ้น กำลังซื้อในประเทศผ่านการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคหลายตัวแล้ว การเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เม็ดเงินลงทุนของรัฐ กระจายลงสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงสั่งการให้เร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มที่ แต่จากข้อมูลของสำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)พบว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของโครงการลงทุนภาครัฐที่ใช้เงินกู้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มีการเบิกจ่ายสะสมในปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 111,892.83 ล้านบาท คิดเป็น 64.96% ของงบประมาณการเบิกจ่ายสะสมทั้งปีที่ 172,239.72 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72.92% ของงบประมาณการเบิกจ่ายสะสม 11 เดือน(ตุลาคม 2562-สิงหาคม 2563) ของปีงบประมาณ 2563 ที่อยู่ที่ 153,448.25 ล้านบาท

สบน.ถกรัฐวิสาหกิจเร่งอัดฉีดงบลงทุน

โดยแบ่งเป็นการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2563 จำนวน 35,096.96 ล้านบาท ไตรมาสที่ 2 จำนวน 28,594.97 ล้านบาท ไตรมาสที่ 3 จำนวน 30,560.67 ล้านบาท และไตรมาสที่ 4 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 จำนวน 17,640.23 ล้านบาท ซึ่ง สบน.คาดการณ์ว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนได้ทั้งสิ้น 130,684.29 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการไว้บ้างเล็กน้อย  

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงทุนในโครงการของภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาวที่กำหนดกรอบวงเงินลงทุนในแต่ละปีให้ชัดเจน ที่ผ่านมาจะมีทั้งหน่วยงานที่เบิกจ่ายการลงทุนได้ตามเป้าหมายและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อการกู้เงินที่จะลดลงกว่าแผนที่วางไว้แล้ว ยังมีผลต่อเม็ดเงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจด้วย แต่่ในปีงบประมาณ 2563 นั้นถือว่า ตํ่าไม่มาก จึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้พื่อให้เม็ดเงินลงทุนโครงการภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสัปดาห์หน้าสบน.จะเรียกรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมาหารือเพื่อรับฟังข้ออุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในปีนี้ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายการลงทุนตํ่ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน และก่อให้เกิดการเบิกจ่ายได้มากขึ้น

 

“คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนโครงการภาครัฐไว้ 1.9 ล้านล้านบาทใน 131 โครงการและอีก 2 แผนงาน ปัจจุบันมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 9 แสนล้านบาท หรือ 47.21% ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ซึ่งแต่ละปีจะเบิกจ่ายได้เร็วบ้างช้าบ้างเฉลี่ยกันไป ฉะนั้นปีนี้จะตํ่ากว่าเป้าบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาอะไร”นางแพตริเซียกล่าว

 

สำหรับหน่วยงานที่มีผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนตํ่ากว่าประมาณการในปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วยการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) เบิกจ่ายเพียง 43% ของประมาณการเบิกจ่ายสะสม เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีความล่าช้าในส่วนของงานก่อสร้าง


สัญญางานโยธาและยังไม่ผ่านการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตลอดทั้งเส้นทางไม่มีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณตามแผน เพราะทั้ง 4 โครงการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามรูปแบบ PPP, การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เบิกจ่ายได้ 43% เนื่องจากโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบเกิดความล่าช้า และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์(ธพส.) เบิกจ่ายได้ 49% ่จากความล่าช้าของโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการ โซน C 

ขณะที่หน่วยงานที่ไม่มีผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนคือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพราะยังไม่เริ่มลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่3 และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ต้องเลื่อนการส่งนักเรียนทุนไปต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาโควิด-19

 

ส่วนหน่วยงานที่มีผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนสูงกว่าประมาณการเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เบิกจ่ายสะสม 131% และการเคหะแห่งชาติ มีการเบิกจ่าย 115% ของประมาณการเบิกจ่ายสะสม

 

ทั้งนี้การเบิกจ่ายเงินลงทุนสะสมรอบ 11 เดือนปีนี้ 111,892.83 ล้านบาทนั้นแบ่งเป็น เงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ 75,094.48 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด ตํ่ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 81% การเบิก จ่ายรายได้สะสม 35,058.94 ล้านบาท คิดเป็น 31% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 16% และเงินงบประมาณสะสม 1,739.41 ล้านบาทคิดเป็น 2% ตํ่ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% 

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,621 วันที่ 25 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563