อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาด"ทรงตัว"

20 ต.ค. 2563 | 00:05 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 31.20บาท/ดอลลาร์-จับตาสกุลเงินเอเชียโดยเฉพาะเงินหยวนจีนถ้าแข็งค่าต่อ จะสร้างกระแสเงินทุนไหลเข้าเอเชีย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์


ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนท่า เงินบาท ระยะสั้นแทบไม่มีความเคลื่อนไหว โดยในช่วงวันก่อนแกว่งตัวอยู่ในช่วง 31.18-31.25 บาทต่อดอลลาร์ เรามองความเสี่ยงการปรับฐานของตลาดลดบทบาทลงเมื่อเงินดอลลาร์ไม่แข็งค่า จึงควรกลับมาติดตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียโดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ที่ล่าสุดแข็งค่าแตะ 6.68 หยวนต่อดอลลาร์ แพงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปี 2018 ซึ่งถ้าแข็งค่าต่อ จะสร้างกระแสเงินทุนไหลเข้าสกุลเงินเอเชียอื่นๆตามมาด้วย

สำหรับในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินผันผวนสูง ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ปรับตัวลงถึง 1.6% ขณะที่ดัชนีวัดความกลัวของตลาดหรือ VIX Index ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 30% สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังความไม่แน่นอนเรื่องแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนกังวล 


ด้านการเลือกตั้ง โจ ไบเดน ก็เร่งคะแนนความนิยมนำห่างถึง 87.5% สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาทำให้ตลาดขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยในฝั่งสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ขยับขึ้นแตะระดับ 0.77% และดัชนีดอลลาร์ย่อตัวลง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ชี้ให้เห็นว่าตลาดเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของฝั่งเดโมแครตจะกดดันดอลลาร์และบอนด์ระยะยาว

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ โดยแม้เงินบาทอาจจะมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างแคบ แต่ยังมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า เพราะแม้ภาพรวมสกุลเงินในภูมิภาคจะขยับแข็งค่าขึ้น แต่นักลงทุนยังคงรอประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด 


สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามสถานการณ์การเมืองของไทย ตลอดจนความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐฯ