ธ.สแตนชาร์ดฯ หั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 8%  หวั่นการเมืองซ้ำเติม 

15 ต.ค. 2563 | 09:35 น.

ธนาคารสแตนชาร์ดฯ หั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้ ติดลบ 8% จากปัจจัยลบถาโถม หวั่นการเมืองยืดเยื้อ-รุนแรงซ้ำเติม ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาสู่ระดับ 40 ล้านคน คาดต้องใช้เวลา 3-5 ปี จับตานนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ หลังได้รมว.คลังใหม่  


วันที่ 15 ตุลาคม 2563  นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว โดยคาดเศรษฐกิจทั้งปีนี้จะหดตัวลบ 8% จากประมาณการเดิมที่คาดลบ 5%  โดยการฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากปัจจัยลบภายในประเทศ ความไม่แน่นอนในต่างประเทศ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นเติบโตได้ที่ 2% ในปี 2564
         

"เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้นจากตอนต้นปี เพราะต้นปีเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดของไทยวิกฤติที่สุด แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบไม่มั่นใจ แม้ว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่มั่นคง ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ สำหรับภาคการท่องเที่ยว ประเมินว่ากว่าที่จะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาสู่ระดับ 40 ล้านคนเหมือนในอดีต อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี ถึงจะเห็นระดับนักท่องเที่ยวใกล้กับก่อนโควิด-19"         

 

สิ่งที่ต้องจับตา คือ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้มากน้อยเพียงใด หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งใช้เวลากว่าสามเดือนกว่าจะได้ทีมใหม่  รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร บนพื้นฐานว่าเศรษฐกิจไทยยังติดลบอยู่ ซึ่งหากยื้ดเยื้อ หรือรุนแรงอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ 
        

โดยภาพรวมที่ยังอยู่ในลักษณะ “ติดตามสถานการณ์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคลัง การเบิกจ่าย สถานการณ์การเมือง การเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว การคิดค้นวัคซีนต้านโควิด เพราะฉะนั้น ยังอาจไม่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความมั่นใจได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน เชื่อว่า ธปท.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน ถ้าสถานการณ์ยังทรงตัวและเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ธปท.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วงในไตรมาสนี้ โอกาสที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยไปที่ 0.25% ก่อนสิ้นปีได้
 

 

ปัจจัยที่นักลงทุนจับตา เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ระยะถัดไป คือมีโอกาสหรือไม่ที่จะเห็นธปท.ปรับลดดอกเบี้ย รวมถึงการเลือกดำเนินนโยบายการเงินเหมือนต่างประเทศหรือไม่ เช่นการนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE รวมถึงการออกมาตรการ yield curve control และนโยบายช่วยเหลือ SMEs เพิ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนอยากเห็นความชัดเจนและสนใจ