แบงก์กรุงเทพ ออก "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" 2.3 หมื่นล้าน ตุนทุนสำรองรับมือพิษโควิด

13 ต.ค. 2563 | 06:36 น.

แบงก์กรุงเทพ ลุยออก "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" รองรับพิษโควิดกระทบศก.คาดลากยาวใช้เวลาฟื้นฟู 2 ปีครึ่ง ตุนทุนสำรองรับหนี้เสีย พร้อมเตรียมมาตรการอุ้มลูกหนี้ทุกกลุ่มพร้อมพิจารณาเฉพาะราย

ตามที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL สาขาฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายน 2563 ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ (Perpetual Bond) เสนอขายนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ2.3หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Global medium term note (วงเงินในการออกตราสารภายใต้โครงการ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ )


นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL กล่าวว่า เนื่องจากธนาคารประเมินสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวอาจใช้ระยะเวลาไปอีก 2 ปีถึง 2 ปีครึ่ง  ดังนั้นการออกหุ้นกู้ ถือเป็นการเตรียมตัวป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดในอนาคตไว้รองรับหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด และ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)

 

การออกหุ้นกู้ดังกล่าวมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีทุนสำรองที่ แข็งแกร่งโดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) เงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มสูงอยู่ในระดับ 17-18%


 

" วัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้ เพื่อเสริมสร้าง Tier1 เราให้แข็งแรง ซึ่งผมมองว่าในอีก 2 ปี สองปีครึ่ง เผื่อจะมีเอ็นพีแอล ซึ่งตามฐานะการเงินเรามีเหลือเฟือทั้งTier1 และ Tier 2 ยังไม่จำเป็นต้องออกแต่เรามีโอกาสที่จะเพิ่ม Reserve ไว้ให้ขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มทุน"

นายเดชา ตุลานันท์ ประธาน​กรรมการ​บริหาร​ธนาคารกรุงเทพ หรือBBL
ส่วนสถานการณ์ลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือนั้นส่วนใหญ่ยังมีความสามารถกลับมาชำระต่อได้ ซึ่ง ธนาคารดำเนินโครงการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท)ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ สำหรับลูกหนี้ในรายที่ผ่อนชำระหนี้ไม่ไหว แม้ธปท.ยังไม่ประกาศมาตรการช่วยเหลือภายหลังครบกำหนดแต่ธนาคารได้เตรียมที่จะดูแลลูกค้าเฉพาะรายที่จำเป็นทั้งรายย่อย และ เอสเอ็มอีเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนโดยพิจารณาจากกระแสเงินสดรับ และเอ็นพีแอล


" ช่วงต่อไปรอดูว่าแบงก์ชาติจะทำอย่างไรถ้าไม่มีมาตรการ ช่วยเหลือ ตรงนี้ที่สำคัญที่สุด เพราะกลัวลูกค้าจะกลายเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งห่วงกลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว โรงแรม ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ ยากที่จะบอกว่าอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ผมประเมินเศรษฐกิจไทย 2ปียังไม่ผ่านหรือกลับไปสู่สถานการณ์ก่อนโควิด เพราะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการส่งออก และท่องเที่ยว"
 

ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพว่า แนวโน้มจะเห็นฝ่ายจัดการของธนาคารพยายามเดินตาม 3 ยุทธศาสตร์หลัก โดยนำปัจจัยแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาประกอบเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจธนาคารในระยะข้างหน้า

 

สำหรับ 3ยุทธศาสตร์ได้แก่  1.การปรับตัวไปสู่ธนาคารยุคดิจิทัล(  Digitalization) เห็นได้จากการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆรวมถึงบริการทางการเงินเพื่อรองรับพฤติกรรมการทำธุรกรรมบนดิจิทัลมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) ที่สะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยน การทำธุรกรรมแบบไปอยู่บนดิจิทัล


ส่วนแนวทางการให้บริการผ่านสาขานั้น ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญสาขาเต็มรูปแบบเพื่อให้บริการลูกค้าทั้งรายย่อย และลูกค้ารายใหญ่ ดังนั้น แนวโน้มการปรับลดสาขา จะเป็นลักษณะของการควบรวมหรือยุบรวมสาขาตามความต้องการของลูกค้า

 

“ อย่างสาขาสแตนอะโลน จะเสิร์ฟลูกค้าทั้งรายย่อย และรายใหญ่ซึ่งเรามีศูนย์ธุรกิจเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกลูกค้า ในแง่การลดสาขาจึงใช้วิธีควบรวมบหรือยุบรวมสาขาโดยพิจารณาตามปัจจัยและ และพยายามยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและลูกค้า เพื่อเข้าใจลูกค้า และมองให้ออกว่าเสี่ยงหรือไม่ และจะไปได้หรือไม่ ดังนั้น การมีเครือข่ายเชิงลึก เชิงกว้าง และเข้าใจลูกค้ามากที่สุด เพื่อสร้าง Relationship โดยต้องปลูกฝังทำให้คนของเราเป็นเพื่อนคู่คิด”
 

 

2.การเติบโตจากการรวมกลุ่มในภูมิภาค (Regionalization )ซึ่งการซื้อหุ้น ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) หรือเพอร์มาตา ในประเทศอินโดนีเซีย สะท้อนถึงการมีเครือข่ายเชิงลึกและการรุกตลาดในต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธนาคารในระยะข้างหน้า 


3.การขยายตัวเมือง ( Urbanization) โดยตั้งเป้าให้ธนาคารกรุงเทพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของชุมชนเมืองในระยะข้างหน้า และเติบโตไปกับลูกค้าในแง่ของการขยายธุรกิจด้วย