รู้จัก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เสี่ยงแต่คุ้ม?

12 ต.ค. 2563 | 23:00 น.

รู้จัก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ผลตอบแทนสูง ที่มาพร้อมกับความซับซ้อน และความเสี่ยงการลงทุน

 

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้พากันออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual subordinated bond) หรือ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ล่าสุดธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KBANK อยู่ระหว่างการนำเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual bond) หรือ "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" อัตราดอกเบี้ย 5.275% ไม่เรียกชำระคืนภายใน 5 ปี วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งทยอยออกตามมา

 

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) พบว่า ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 พบมีการออก“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” รวม 119,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยประมาณ 81% และผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth : HNW) 6%”


สาเหตุที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ออก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” กันเป็นจำนวนมาก เพราะในช่วง 5 ปีแรกจะไม่ถูกนับเป็นหนี้ จะไม่กระทบต่อ อัตราหนี้สินต่อทุน(D/E) ของบริษัท ประกอบกับสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยที่อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน บริษัทต่างๆจึงอาศัยจังหวะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่มีความเสี่ยงและซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาซื้อ

ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด ก.ล.ต.ให้ข้อมูลว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ที่มีหลายบริษัทเสนอขายแก่ผู้ลงทุนจึงเป็นที่สนใจมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ หุ้นกู้ชนิดนี้มาพร้อมกับลักษณะพิเศษอะไรบ้าง ไปทำความรู้จักกัน

 

1. ส่วนแรกของชื่อ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” ก็คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ‘หลัง’ จากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับคืนทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงิน ‘ก่อน’ ผู้ถือหุ้นสามัญ

 

2. ส่วนท้ายของชื่อ “มีลักษณะคล้ายทุน” ก็คือ สิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น ด้วยลักษณะพิเศษแบบนี้เองจึงทำให้หุ้นกู้นี้ถูกเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์บ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพบ้าง เพราะชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออก ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใด ๆก็ตาม

 

ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้น ๆ  ว่าคนยังสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับได้

 

3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา และไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ออกอาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้ จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกเช่นกัน ผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อ ๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

4. หุ้นกู้นี้ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) คือหากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้ จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้  นี้ด้วย และเมื่อไม่ผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด

 

จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป

ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด ก.ล.ต. ให้ข้อมูลว่า ก่อนลงทุน “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” มีเช็คลิสต์ 5 ข้อ สำหรับผู้ลงทุนสำรวจตัวเอง ดังนี้

 

-ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนามรับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ

 

-เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก

 

-ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย

 

-รู้เครดิตเรทติ้ง

 

-รู้วิธีขายคืน

 

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น SEC Bond Check เครื่องมือใหม่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ลงทุนตราสารหนี้ มีข้อมูลพื้นฐานของหุ้นกู้ พร้อมแสดงอันดับเครดิตเรทติ้ง อย่างชัดเจน ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ ทั้งในระบบ iOS และ Android

 

การเลือกลงทุนในหลักทรัพย์เป็นการพิจารณาและตัดสินใจของแต่ละคน ซึ่งอาจเห็นโอกาสของผลตอบแทนและยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับที่แตกต่างกัน

 

อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุนมากขึ้น ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลหุ้ “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” โดยกำหนดให้หุ้นกู้ประเภทดังกล่าวที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุน (investment grade) เท่านั้น ซึ่งเป็นการคัดกรองคุณภาพในเบื้องต้นว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีความสามารถในการชำระหนี้ระดับหนึ่งเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีการกำหนดอายุไถ่ถอน ทำให้ผู้ลงทุนอาจต้องถือไว้นานกว่าหุ้นกู้ทั่วไป