“คนละครึ่ง” หนุนค้าปลีกไตรมาส4/63 คาดหดเหลือ 7.2%

29 ก.ย. 2563 | 11:24 น.

 

จากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการ “คนละครึ่งที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563 ซึ่งนอกจากจะกำหนดวงเงินคนละไม่เกิน 3,000 บาท (โดยรัฐจะจ่ายให้ 50% ของยอดใช้จ่าย ซึ่งไม่เกิน 3,000 บาท) เป็นจำนวน 10 ล้านคน แล้วนั้น ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้ออื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้า เช่น ชิมช้อปใช้ คือ มีการจำกัดวงเงินการใช้จ่ายต่อวัน ไม่เกินวันละ 150 บาท ส่งผลให้สินค้าที่เข้าข่ายหรือตอบโจทย์วงเงินดังกล่าวมีมูลค่าที่ไม่สูงนัก และเน้นไปที่สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบและการบริการ)

               

นอกจากนี้มาตรการฯ ดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก โชห่วย แผงลอย เท่านั้น จึงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มดังกล่าว มีโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตสินค้า (Supplier) เกษตรกร รวมถึงการจ้างงานของธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของธุรกิจค้าปลีกได้ในระดับหนึ่ง จากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจเกี่ยวเนื่องต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซาต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี บวกกับกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังคงระบาดรุนแรงในต่างประเทศ

            

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โอกาสในการเพิ่มยอดขายจากมาตรการฯ ดังกล่าว จะมากน้อยแค่ไหนยังต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น จำนวนร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเวลาเปิด-ปิดของร้านค้าปลีก ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

 

          

ทั้งนี้ จากการสำรวจการใช้จ่ายจากมาตรการ “คนละครึ่ง” ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ในช่วงวันที่ 11-18 กันยายน 2563) พบว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่น่าสนใจ ดังนี้

 

-  กว่าร้อยละ 64.0 ของผู้ตอบแบบสำรวจ วางแผนที่จะใช้จ่ายเต็มวงเงิน (3,000 บาท) และที่เหลืออีกร้อยละ 36.0 วางแผนที่จะใช้จ่ายบางส่วนหรือไม่ถึง 3,000 บาท โดยสินค้าที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ ยาสีฟัน) อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

 

-  การใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 56.0 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยังคงใช้จ่ายใกล้เคียงหรือไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ เนื่องจากมีแผนที่จะใช้จ่ายอยู่แล้วในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ผลจากมาตรการฯ ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคได้ เนื่องจากรัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเอง 100% ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือไปใช้ในการทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือเก็บออมไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นได้ ขณะที่ผู้บริโภคอีกร้อยละ 44.0 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า วางแผนจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่มีมาตรการฯ โดยอาจวางแผนเลื่อนวันในการซื้อสินค้าให้ตรงกับช่วงที่ออกมาตรการ

 

 

“คนละครึ่ง” หนุนค้าปลีกไตรมาส4/63  คาดหดเหลือ 7.2%

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลจากมาตรการคนละครึ่ง น่าจะช่วยหนุนค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 ให้หดตัวลดลงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 7.2 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดังกล่าวจะกระจายไปยังร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional trade) เช่น ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก โชห่วย ร้านธงฟ้า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้นอกจากการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว อาจจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของสต็อกสินค้า ความสดใหม่และคุณภาพของสินค้า

 

รวมถึงอาจจะอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ แรงส่งจากมาตรการฯ ดังกล่าว น่าจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 หดตัวประมาณร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว   อ่านฉบับเต็ม