เช็กที่นี่ มติครม. "ซานต้าตู่" ควัก 7 หมื่นล้าน ฟื้นเศรษฐกิจ

22 ก.ย. 2563 | 09:15 น.

เปิดรายละเอียด "มติครม." ควักงบประมาณ มากกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟู-กระตุ้นเศรษฐกิจ จ้างงาน-ค่าตอบแทนพิเศษ-น้ำไฟฟรี

วันที่ 22  ก.ย. 63 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีการอนุมัติงบประมาณ โครงการ มาตรการ จำนวนหลายโครงการ ได้แก่ 

 

อนุมัติ 3 โครงการ จากพ.ร.ก.เงินกู้ 2.1 หมื่นล้านบาท

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโครงการ/แผนงานใช้จ่ายเงินกู้ตาม "พ.ร.ก.เงินกู้" หรือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ฯ  จำนวน 3 โครงการ รวมวงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท

 

1. โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนให้ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,050,306 คนต่อเดือน ตั้งแต่ ตุลาคม - ธันวาคม 63 กรอบวงเงินไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท 

 

"เนื่องจาก อสม. ถือเป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19  โดยเฉพาะความเสี่ยงในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเพิ่ม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพ" 

 

2. โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กรอบวงเงินไม่เกิน 19,462.0017 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ช่วยเหลือการจ้างงานให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสถานประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนและผู้จบการศึกษาใหม่ 260,000 คน 

 

ซึ่งแผนการใช้จ่าย รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินอุดหนุนเงินเดือน 50% ให้กับผู้จบการศึกษาใหม่ตามอัตราเงินเดือนแยกตามวุฒิไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน  ในระยะเวลา 12 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค. 63 - 30 ก.ย. 64  โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคมและไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกิน 15% ภายใน 1 ปี

 

ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงาน  นายจ้างหรือสถานประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจ รัฐบาลก็จะได้รายได้กลับมาจากการเก็บภาษีด้วย 
 

 

3.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 

 

- ให้ความช่วยเกษตรกรทดแทนผู้เสียชีวิตที่มีสิทธิโครงการ ฯ ที่ได้ดำเนินการตามขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวน 5,278 ราย โดย กษ. ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 63 ทั้งนี้ กษ. ต้องยืนยันว่าผู้มีสิทธิ์โครงการฯ ได้เสียชีวิตจริงและมีหลักฐานการเสียชีวิตตามที่ มท. กำหนด

 

สำหรับกรณีที่เกษตรกรผู้มีสิทธิภายใต้โครงการฯ เสียชีวิตจริงก่อนระยะเวลาโครงการฯ กษ. ต้องยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทดแทนเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนด จึงจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาตามสิทธิของเกษตรกรผู้เสียชีวิตให้กับเกษตรกรผู้รับช่วงได้ 

 

- สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้รับช่วงฯ แทนเกษตรกรผู้เสียชีวิตที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวนประมาณ 13,283 ราย เห็นควรให้ กษ. พิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้รับช่วงฯ ดังกล่าว

ขยายมาตรการช่วยค่าไฟ-ค่าน้ำ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 1 ปี

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ว่า  รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลผู้มีรายได้น้อย ยิ่งในเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้าใจดีว่ามีความเดือดเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นระยะเวลา 12 เดือน

 

ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง วันนี้ ครม. จึงมีมติอนุมัติขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ออกไป 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 13.9 ล้านคน คิดเป็นครัวเรือนประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ซึ่ง 1 ครัวเรือน สามารถใช้ได้เพียง 1 สิทธิ์เท่านั้น

 

สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รายละเอียดเป็นไปตามมติเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย

 

1.ค่าไฟฟ้า กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการปัจจุบัน แต่กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิตามมาตรการนี้ ในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมด

 

2.ค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาท ต่อ ครัวเรือนต่อเดือน หากใช้เกินวงเงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำประปาทั้งหมด

 

อนุมัติ 677.79 ล้าน จ่ายเงินพิเศษ 7 เดือน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วงโควิด-19

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ว่า  ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เห็นชอบในหลักการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับเงินตอบแทนกรณีพิเศษ ในลักษณะเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เป็นระยะเวลา 7 เดือน

 

วันนี้ ครม. ได้อนุมัติงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 677.79 ล้านบาท สำหรับเบิกจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน จำนวน 7 เดือน ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รวมทั้งสิ้น 273,321 คน (ใช้ข้อมูลในระบบสารสนเทศเพื่อการบริการงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ณ วันที่ 1 กันยายน 2563)  

 

โดยกำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน 2563 รวม 7 เดือน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

1. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน รับเงินเพิ่มพิเศษ 500 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 259.54 ล้านบาท

 

2.แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รับเงินเพิ่มพิเศษ 300 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 418.25 ล้านบาท

 

อนุมัติงบกลาง 204 ล้านบาทรับมือโควิด-19 ระลอก 2

 

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 งบกลาง รายการ เงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอก 2 จํานวน 204 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นในระลอก 2 ให้อยู่ในวงจํากัด ลดโอกาส การแพร่เชื่อเข้าสู ประเทศ ลดผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงสามารถดูแลคนไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศ ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้าน สาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน สถานการณ์การแพร่ ระบาดทั่วโลกโดยข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จํานวนทั้งสิ้น 31,468,646 ราย เสียชีวิต 968,840 ราย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จํานวน 3,511 ราย เสียชีวิต 59 ราย อยู่ใน ระหว่างพักรักษา จํานวน 109  ราย รักษาหายแล้ว จํานวน 3,343 ราย 

 

ขณะที่ประเทศไทยได้ยกระดับการแจ้งเตือนโรคในผู้เดินทางให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการทรัพยากร เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มาจากต่างประเทศ

 

ทั้งการคัดกรอง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเชียงราย และรัฐบาลมีนโยบายให้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศต้องกักตัวประมาณ 14  วัน ณ สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ในระดับประเทศ (National State Quarantine) และระดับจังหวัด (Local State Quarantine) เพื่อดูแลประชาชนชาวไทยและผู้เดินทางจากต่างประเทศให้ปลอดภัยตามหลักการป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติและสัมผัสกับผู้ป่วยด้านการสอบสวนโรคการรักษาได้มีขวัญกําลังใจในการทํางาน เกิดการบูรณาการการทํางานร่วมกันของทุกหน่วยงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

เห็นชอบวันหยุดราชการกรณีพิเศษเดือนพ.ย.และธ.ค.หยุดยาว 4 วัน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบการกําหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเสนอดังนี้ ในเดือนต.ค.2563 มีวันหยุดราชการในวันอังคารที่ 13ต.ค.  และวันศุกร์ที่ 23ต.ค.จํานวน 2 วัน อยู่แล้วซึ่งเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงไม่กําหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษสําหรับเดือนต.ค.

 

อย่างไรก็ตามในเดือนต.ค.นี้ส่วนราชการต่าง ๆ มีกําหนดจัดพิธีถวายผ้ากฐิน ณ วัด ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงควรใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่าย ใช้สอยของภาครัฐ โดยให้สํานักงาน ก.พ. แจ้งเวียนหน่วยงานของรัฐกรณีมีกําหนดการ ถวายผ้ากฐิน ณ วัดต่างจังหวัดในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งข้าราชการอาจต้องเดินทางไปเตรียมการล่วงหน้าในวันศุกร์ หรือเดินทางกลับในวันจันทร์ ก็ให้ถือเป็นการปฏิบัติราชการ ตามปกติโดยไม่ถือเป็นการลาสําหรับหน่วยงานนั้น

 

ส่วนการกําหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเดือนพ.ย.2563 เนื่องจากเดือนพ.ย. ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ จึงเห็นสมควรกําหนดวันหยุดราชการเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย โดยกําหนดให้มีวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 19และวันศุกร์ที่ 20 พ.ย.2563  ซึ่งจะทําให้มีวันหยุดราชการต่อเนื่องไปถึงวัน เสาร์ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 19 – 22 พ.ย.2563 รวมทั้งสิ้น 4วัน 

 

ทั้งนี้ การกําหนดให้มีวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว ไม่ถือเป็น วันหยุดราชการประจําปีและไม่จําเป็นต้องถือเป็นวันหยุดตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานฯ ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จํากัด ในการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในวันหยุดราชการ ประจําปีและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

สำหรับการกําหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเดือนธ.ค.2563นั้น  เนื่องจากเดือนธ.ค.มีวันหยุดราชการในวันเสาร์ที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 9 ซึ่งจะหยุดชดเชยในวันจันทร์ที่ 7ธ.ค. ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 10ธ.ค.เป็นวันรัฐธรรมนูญ โดยที่เดือนธ.ค.นี้ อาจจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง ตามที่ธ.ค.กระทรวงมหาดไทยเตรียมการอยู่ จึงให้เลื่อนวันหยุดชดเชยจากวันจันทร์ที่ 7ธ.ค.  ไปหยุดชดเชยในวันศุกร์ที่ 11ธ.ค.2563 ซึ่งจะทําให้มีวันหยุดราชการต่อเนื่องรวม 4วัน ตั้งแต่วันที่ 10-13 ธ.ค.2563 

 

สำหรับการกําหนดวันหยุดพิเศษเหล่านี้ บางหน่วยงานที่อาจมีการนัดประชาชน ไว้แล้ว สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมได้ เช่น โรงพยาบาล ศาล ธนาคาร สถาบันการเงิน

 

นอกจากนี้ครม.ยังได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปศึกษา เกี่ยวกับการกําหนดวันหยุดราชการประจําภูมิภาคตามเทศกาลประเพณีท้องถิ่นที่สําคัญของแต่ละภูมิภาค ซึ่งไม่มีนัยสําคัญต่อภูมิภาคอื่น เช่น ประเพณียี่เป็งของภาคเหนือ ประเพณีไหลเรือไฟ ของภาคอีสาน ประเพณีสารทเดือนสิบของภาคใต้ และควรทําตารางกิจกรรมท่องเที่ยว ของแต่ละท้องที่ในแต่ละเดือน โดยอาจหารือกระทรวงวัฒนธรรมด้วย

 

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับไปศึกษาเกี่ยวกับการกําหนดวันหยุดราชการครึ่งวัน เป็นกรณีพิเศษ เช่น ครึ่งบ่ายของวันศุกร์ และครึ่งเช้าของวันจันทร์ ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมเสนอ ว่าจะช่วยให้ได้ประโยชน์จากระยะเวลาการพํานักที่ยาวนานขึ้น

 

รับทราบ มาตรการคนละครึ่ง - เพิ่มวงเงินบัตรคนจน 5.1 หมื่นล้าน

 

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.มีมติรับทราบ "โครงการคนละครึ่ง" ตามผลการประชุมของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ซึ่งกระทรวงการคลัง จะนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ดังนั้นวันนี้จึงยังไม่ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ 

 

"ส่วนของหลักการก็เห็นชอบให้กระทรวงการคลังนำไปพิจารณาในรายละเอียด ในวันนี้ ทางกระทรวงการคลังยังไม่ได้นำเสนอมายังที่ประชุมครม. คาดว่าจะเป็นวันอังคารหน้า"นายอนุชา กล่าว

 

นายอนุชา ยืนยันว่า สาเหตุที่ยังไม่เสนอที่ประชุมครม.ไม่เกี่ยวกับการที่ยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่าในเรื่องมาตรการที่อยากทำให้รัดกุม รวมไปถึงต้องการให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เจ้าถึงโครงการคนละครึ่ง นี้ให้มากที่สุด จึงต้องนำกลับไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.ได้มีการอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ที่จะดูแลเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งได้กำหนดวงเงินไว้จนถึงปีหน้าที่จะทยอยออกมาเป็นงวดๆเป็นกลุ่มงานออกไป โดยวันนี้ที่ประชุมครม. 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการคนละครึ่ง  3,000 บาท ให้ประชาชนทั่วไป และ2.โครงการเพิ่มวงเงินซื้อของกินของใช้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  

 

โดยการใช้วงเงินส่วนนี้เพื่อหมุนเวียนในระบบให้เกิดการบริโภค โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าขายปลีก สิ่งที่ได้เน้นย้ำคือให้ประชาชนเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัลหรืออีวอลเล็ทและคิวอาร์โค้ด ซึ่งทุกร้านจะต้องมีคิวอาร์โค้ดเพื่อรัฐบาลจะจ่ายเงินลงไปโดยไม่ต้องผ่านใคร  โดย 2 โครงการนี้ที่ครม.อนุมัติจะเป็นการกระตุ้นค่าใช้จ่าย เพิ่มกำลังซื้อ ลดค่าครองชีพ เมื่อมีคนจับจ่ายใช้สอย พ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็จะมีเงินไปต่อยอด ซื้อขายต่อไปเรื่อยๆ ตรงนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุนผู้ที่มีรายได้สูงแต่ประการใด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการ "คนละครึ่ง" และการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นั้นเป็นมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 3/2563  ที่อนุมัติหลักการ มาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนระดับฐานราก

 

ประกอบด้วย 1.โครงการคนละครึ่ง วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท เปิดให้ผู้มีสิทธิ์ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน เริ่มลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com  ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม และเริ่มใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยรัฐบาลจะสมทบการใช้จ่ายให้สูงสุดวันละ 100 บาทต่อวัน ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ


สำหรับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ มีกลุ่มเป้าหมายร้านค้าจำนวนประมาณ 100,000 ร้าน โดยร้านค้าสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 หรือแจ้งผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย

 

2.เพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 21,000 ล้านบาท จำนวน 14 ล้านคน คนละ 1,500 บาท โดยจะได้รับเพิ่มคนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้ สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในมาตรการนี้จะเป็นเงินที่ดึงมาจากงบฟื้นฟูฯ 400,000 ล้านบาท โดยจะเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า  
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เคาะวันหยุดยาว 19-22 พ.ย. และ 10-13 ธ.ค.

ด่วน ครม.เคาะมาตรการ “คนละครึ่ง”แจก3,000บาท เพิ่มวงเงิน "บัตรคนจน" 500 บาท

ครม.เคาะงบ 2,177 ล้าน จ่าย "อสม.-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน" สู้โควิด

ผู้ถือบัตรคนจน เฮ ครม.ขยายมาตรการช่วย "ค่าน้ำ-ค่าไฟ" ออกไปอีก 1 ปี