ตลท.พร้อมรับมือตลาดผันผวน

08 ก.ย. 2563 | 10:38 น.

ตลท.ยังไม่มีข้อสรุปต่อเวลาเกณฑ์ Short Sell และ Ceiling & Floor เผยรอดูความผันผวนของตลาดประกอบ ย้ำมีมาตรการรับมือความรุนแรงได้ แจงบจ.เข้าจดทะเบียนได้ต้องไม่มีปัญหาต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สำหรับเกณฑ์เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชั่วคราว ทั้งเกณฑ์ราคาเสนอขายชอร์ต (Short Sell) และเกณฑ์ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปอย่างชัดเจนได้ว่าจะพิจารณาขยายต่อเวลาออกไปหรือไม่ เนื่องจากต้องดูความผันผวนของตลาดหุ้นไทยที่หลังจากวิกฤตโควิดอยู่ที่ระดับ 20-30% อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากภาพรวมตลาดยังเคลื่อนไหวระดับดังกล่าวจะยุติการใช้มาตรการชั่วคราวลง แต่หากยังมีความผันผวนสูง และมีเหตุการณ์รุนแรงตลาดยังมีโอกาสใช้มาตรการดังกล่าวต่อ 

ทั้งนี้ หากความผันผวนเกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่คาดตลท.ยังมีมาตรการอีกประมาณ 4-5 มาตรการ เพื่อช่วยลดความร้อนแรงลง เช่น การปรับอัตรามาร์จิ้น, การปรับเปลี่ยนเวลาซื้อขาย เพื่อรองรับเป็นต้น ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นแล้วหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความผันผวนมีมากขึ้น ทาง ตลท.ก็สามารถนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้ได้ แต่หากไม่เหตุการณ์รุนแรง ตลท.ก็ยังคงดูแลไปตามปกติ ส่วนมาตรการชั่วคราว Short Sell และ Ceiling & Floor ดังกล่าวอาจเป็นมาตรการถาวรหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาสภาพตลาดและกฎระเบียบประกอบกันซึ่งเป็นโจทย์ระยะยาวที่ต้องพิจารณา 

สำหรับกรณีบริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้งส์ (WEH) เตรียมจะเข้าจดทะเบียน แต่ผู้บริหารยังมีคดีความทำให้เกิดคำถามว่าจะเป็นอุปสรรคหรือธรรมาภิบาลต่อการเข้าจดทะเบียนหรือไม่นั้น มองว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ นอกจากธุรกิจจะสามารถสร้างกำไรและผลการเติบโต จะต้องไม่มีปัญหาต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยประกอบกัน ซึ่งหากไม่สามารถตอบโจทย์ทุกด้านจากตลาดฯ และก.ล.ต.ได้ จะต้องกลับไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ให้ได้ หากไม่มีปัญหาก็สามารถเข้ามาจดทะเบียนได้

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีหุ้นไทยค่อนข้างทรงตัว ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 17.0% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.9% จากสิ้นปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่าดัชนีหุ้นไทย และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก 

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคมยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มและในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่ได้อานิสงส์จากการพัฒนาวัคซีนไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai ในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 56,512 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 66,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และนักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ 44.09% ของมูลค่าการซื้อขายรวม

ขณะเดียวกัน ยังมีการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล, และใน mai 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ และ บมจ. ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป มีมูลค่าระดมทุนรวม 6,975 ล้านบาท