30 ก.ย.เส้นตาย พรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน

03 ก.ย. 2563 | 09:40 น.

สบน.เตรียมทบทวนเป้า หนี้สาธารณะใหม่ หลังกู้เพิ่ม ด้านสศค.เชื่อจีดีพีปีหน้าโต 4-5% ช่วยกดหนี้สาธารณะตํ่ากว่าเพดาน 60% ศูนย์วิจัยกสิกรมอง รัฐมีเงินหน้าตัก 4.5% ของจีดีพี

เข้าเดือนสุดท้ายของ ปีงบประมาณ 2563 ท่ามกลางการระบาดของของ ไวรัสโควิด-19 แม้จะคลี่คลายลง แต่รัฐบาลยังต้องใช้เงินงบประมาณในการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกมาก นอกจากเงินงบประมาณปี 2563 ที่จะต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 4.69 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินอีกไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท 

ล่าสุดยังพบว่า วิกฤติิที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงอนุมัติให้เพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาล กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อีก 2.14 แสนล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะทำให้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปรับเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี 

 

แม้ว่าการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการคลังจะกู้ไปเพียง 3.18 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายไปเพียง 2.95 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนวงเงินที่เหลือก็คาดว่า จะกู้ในปีงบประมาณ 2564 ตามความต้องการใช้เงินของรัฐบาลในแต่ละโครงการ นอกจากนั้นยังมีเงินงบประมาณตามพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ที่โอนไปอยู่ในงบกลาง 8.8 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องใช้ให้หมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 ก่อนสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า มีการจัดทำโครงการต่างๆ จากฝั่งส.ส.พรรครัฐบาล เพื่อยื่นขอใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก

30 ก.ย.เส้นตาย พรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขอใช้งบกลางจะต้องมาจากส่วนราชการเป็นผู้ยื่นเสนอขอใช้งบประมาณ และต้องเข้าเงื่อนไขการขอใช้งบกลางด้วยว่า จะต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และฉุกเฉิน อย่าง กรณีการของบเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนํ้าท่วมก็สามารถทำได้

 

ส่วนประเด็นความกังวลต่อสัดส่วน หนี้ต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นจนเกินกรอบวินัยการคลังนั้นที่ผ่านมา นางแพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายหนี้สาธารณะปีนี้ใหม่ ซึ่่งคาดว่า จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มเล็กน้อยจากปัจจุบัน 45.83% มาอยู่ที่ 52.4% ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2563 จากเดิมที่คาดว่า จะอยู่ที่ 51.64% ขณะที่ปี 2564 ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 57.8% ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่มีเพดานไม่เกิน 60%

30 ก.ย.เส้นตาย พรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน

 

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวได้ 4-5% ซึ่งหากเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลง ฉะนั้นจึงไม่น่าห่วงว่าจะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะเกินเพดานที่กำหนดไว้

 

“เท่าที่เราคาดการณ์ไว้ประมาณ 4-5% ซึ่งตัวเลขนี้ประเมินหลังจากเกิดโควิดแล้ว ซึ่งหากจีดีพีโตได้ตามนี้ หนี้สาธารณะก็จะถูกลดทอนไปตามสัดส่วน ก็ไม่ได้น่าห่วงอะไรมาก”

30 ก.ย.เส้นตาย พรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน

 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จะหดตัว 10% จากเดิมหดตัว 6% โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นแบบ U-Shaped ดังนั้นการประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงฐานของตัวยู ต้องชั่งนํ้าหนักระหว่างการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้ทันเหตุการณ์ในสภาวการณ์ที่ไม่นิ่งกับต้นทุนในการออกมาตรการ เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้แนวโน้มรัฐบาลมีแผนใช้จ่ายในการฟื้นเศรษฐกิจและจ้างงาน จึงยังไม่กังวลต่อระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้ โดยระยะข้างหน้ารัฐบาลจะมีเม็ดเงินหน้าตักราว 4.5% ของจีดีพี ซึ่งมาจาก 3 ก้อนคือพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออีก 50%, พ.ร.บ. โอนงบปี 2563 เกือบ 1 แสนล้านบาทและพ.ร.บ งบประมาณปี 2564 อีก1.4 แสนล้านบาท 

“โจทย์ที่ยากขึ้นของภาครัฐไม่ว่าจะมีมาตรการใดย่อมมีต้นทุน หากทำน้อยเกินไป การใช้งบก็ไม่ทั่วถึง แต่หากมากเกินไป ก็กระทบหนี้สาธารณะ ดังนั้นจะต้องสร้างความสมดุล ภายในสิ้นปีนี้ หากจำเป็นต้องกู้เพิ่มก็สามารถขยับหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบ 52-54%  ปีหน้าและปีถัดไปขยับให้อยู่ในกรอบ 57-60% เพราะถ้าสถานการณ์จำเป็นจริงๆ ก็สามารถผ่อนปรนในการกู้เพิ่มได้”

 

ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศได้รับความเดือดร้อนเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก ต้องมีการใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทยดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเกิน 60% ของจีดีพี ก็ย่อมสามารถทำได้ เพราะโควิดเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลก

 

30 ก.ย.เส้นตาย พรบ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

หน้า 13 ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2563