มติครม. คง "ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%" อีก 1 ปี เช็กรายละเอียดได้ที่นี่

25 ส.ค. 2563 | 08:33 น.

เปิดรายละเอียดจากเอกสารมติครม. เห็นชอบต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat 7% อีก 1 ปี มีเหตุผล ผลกระทบ และประโยชน์อย่างไรบ้าง

จากกรณีที่วันที่ 25 ส.ค. 63 ที่ประชุมครม.สัญจร จังหวัดระยอง เห็นชอบต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ คงอัตรา VAT 7% ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้เอกฃน โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 63 - 30 ก.ย. 2564  

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบรายละเอียดของมติดังกล่าวมีดังนี้ 

 

วาระดังกล่าวชื่อวาระว่า "ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..)พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเสนอโดยนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กํากับการบริหารราชการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้นําเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี

 

ส่วนรายละเอียดระบุว่า 

ข้อเท็จจริง

1. ข้อกฎหมายปัจจุบันได้กําหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 684) พ.ศ. 2562 โดยกําหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ใกล้จะสิ้นสุดลง

 

2. ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จากมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการทยอยผ่อนปรนมาตรการจํากัดการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดําเนินธุรกิจได้ตามปกติ ซึ่งเป็นปัจจัย สนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศหดตัวน้อยลง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน ครม.เคาะคง Vat7% อีก 1 ปี

ต่อพรก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือนคุมโควิด -19

“สุริยะ” ชง ครม.เคาะลดภาษีเงินได้กระตุ้นซื้อรถยนต์ใหม่

ครม.อนุมัติงบ 1,000 ล้าน หนุนผลิตวัคซีนโควิด-19

 

สําหรับปี 2564 เศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว จากการดําเนินโครงการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติม และการคงจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3( ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะมีส่วนสนับสนุน ให้ระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย

ข้อกฎหมาย ประมวลรัษฎากร

 

1. กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้า การให้บริการ และการนําเข้า โดยตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กําหนดให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 รวมทั้งตามพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 22534 ประกอบพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 มอบให้กรมสรรพากรเรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มแทนราชการส่วนท้องถิ่นในอัตรา 1 ใน 9 ของอัตราภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บ

 

2. กรมสรรพากรสามารถลดอัตราภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรได้ เดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกําหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกัน สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ และการนําเข้าทุกกรณี

 

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 บัญญัติเกี่ยวกับ การเสนอมาตรการภาษีไว้ ดังนี้

- มาตรา 27 กําหนดให้การดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินการนั้นจัดทําแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ ตลอดระยะเวลาดําเนินการและประโยชน์ที่จะได้รับ โดยต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี

 

- มาตรา 32 กําหนดให้การยกเว้นหรือการลดภาษีอากรใด จะกระทําได้ก็แต่ โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ให้อํานาจจัดเก็บภาษีอากรนั้น ทั้งนี้ ให้พิจารณาถึงความเป็นธรรม ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติรวมทั้งการพัฒนาและสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ในการเสนอยกเว้นหรือลดภาษีอากรให้หน่วยงานของรัฐผู้เสนอจัดทําประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการยกเว้นหรือลดภาษีอากรด้วย

 

เหตุผลความจําเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี

 

เนื่องจากการกําหนดให้มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปอีก จะต้องได้รับความเห็นชอบจากระดับนโยบาย อีกทั้งจะต้องมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร จึงมีความจําเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (4)

ความเร่งด่วนของเรื่อง

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...(มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีความเร่งด่วนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อันจะทําให้ระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย

 

สาระสําคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

 

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นการกําหนดให้มีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 

 

ผลกระทบ

 

การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรการข้างต้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสีย รายได้ของรัฐ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงิน การคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้

 

1.ประมาณการการสูญเสียรายได้

- การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มทุก ๆ ร้อยละ 1 จะทําให้ภาครัฐมีรายได้ เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท

- การกําหนดให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เนื่องจากในการจัดทํางบประมาณ ได้มีการคํานวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคํานวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

 

1. ในส่วนของประชาชน จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภค ของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว

2. ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทําให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมี ส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนและสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้ต่อไป