เปิดใจ ณพ ณรงค์เดช “หลายคดียุติแล้ว และผมชนะทั้งหมด”

19 ส.ค. 2563 | 10:13 น.

"ณพ ณรงค์เดช" เปิดใจครั้งแรก เผยยุติหลายคดีแล้ว แต่ยังเหลือบางส่วนต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง พร้อมเดินหน้าดัน WEH เข้าจดทะเบียนในตลท.

ถ้าจะพูดถึงหนึ่งในมหากาพย์ของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนและซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย คงมีเรื่องราวของ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เพราะบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ “WEH” มีตำนานผ่านตัวละคร “นพพร ศุภพิพัฒน์” ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ และอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี ม.112 จนนำมา ซึ่งศึกสายเลือด "ณรงค์เดช" ระหว่าง 3 พ่อลูก “เกษม-กฤษณ์-กรณ์” กับลูกชายคนกลาง “ณพ ณรงค์เดช” 

 

นายณพ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังเกิดคดีฟ้องร้อง จนทำให้ขั้นตอนการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก( ไอพีโอ )ของ WEH ค้างเติ่งมาหลายปี

เปิดใจ ณพ ณรงค์เดช “หลายคดียุติแล้ว และผมชนะทั้งหมด”

 

นายณพกล่าวว่า คดีความที่มีอยู่หลายคดี ทั้งที่เริ่มโดยนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ขายหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง และครอบครัวของตน โดยหลายคดีได้ยุติไปแล้ว ซึ่งตนเป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมด เช่น คดีอนุญาโตตุลาการ ที่บริษัทของนายนพพร มาฟ้องเพื่อยกเลิกการขายหุ้นให้กับตน อนุญาโตตุลาการก็ตัดสินว่า ยกเลิกการขายหุ้นไม่ได้

 

หรือคดีที่ฮ่องกงที่บริษัทของนายนพพร และครอบครัวของตนมาฟ้องตน ศาลฮ่องกงได้ยกคดีทิ้งไปทั้งหมดแล้ว ส่วนคดีอื่นๆ ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง มีทั้งที่บริษัทของนายนพพรไปฟ้องที่ประเทศอังกฤษและมาฟ้องในประเทศไทย รวมถึงครอบครัวมาฟ้องในศาลไทยด้วย แต่ก็ยังเชื่อมั่นในข้อเท็จจริงว่า เมื่อศาลในแต่ละคดีได้ฟังทั้งหมดแล้ว จะให้ความเป็นธรรม

 

สำหรับความคืบหน้าการนำ WEH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)นั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้นำข้อมูลไปปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการกับคณะทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เป็นระยะๆ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นไอพีโอ และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังเดินหน้าต่อตามแผน โดยเชื่อมั่นว่า จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย

เปิดใจ ณพ ณรงค์เดช “หลายคดียุติแล้ว และผมชนะทั้งหมด”

ปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมรวม 8 โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 717 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้แก่  1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม FKW กำลังผลิตติดตั้ง 103.5 MW เริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2555  2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม KR2 กำลังผลิตติดตั้ง 103.5 MW เริ่ม COD ปี 2556

 

3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม WTB กำลังผลิตติดตั้ง 60 MW เริ่ม COD ปี 2559 4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม T1 กำลังผลิตติดตั้ง 90 MW เริ่ม COD ปี 2561 5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม T2 กำลังผลิตติดตั้ง 90 MW เริ่ม COD ปี 2561 6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม T3 กำลังผลิตติดตั้ง 90 MW เริ่ม COD ปี 2561 7.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม NKS กำลังผลิตติดตั้ง 90 MW เริ่ม COD ปี 2561 และ 8.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม T4 กำลังผลิตติดตั้ง 90 MW เริ่ม COD ไตรมาส 1 ของปี 2562

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่โครงการเริ่ม COD ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างผลการดำเนินงานเติบโตจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยปี 2562 มีรายได้รวม 12,058 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,888 ล้านบาท ส่วนในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้รวม 4,320 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,261 ล้านบาท โดยมีทุนจดทะเบียน 1,088 ล้านบาท

เปิดใจ ณพ ณรงค์เดช “หลายคดียุติแล้ว และผมชนะทั้งหมด”

ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท ประกอบด้วย บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด ถือหุ้นประมาณ 40% โดยจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงานเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 มีความสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานลม จึงจัดตั้งบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด และ Fullerton Bay Investment Limited เพื่อซื้อหุ้น 100% ในบริษัท Next Global Investment Limited บริษัท Symphony Partner Limited และบริษัท Dynamic Link Venture Limited ซึ่งจดทะเบียนที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นของนายนพพร ศุภพิพัฒน์ (ผู้ถือหุ้นเดิม) โดยทั้ง 3 บริษัทถือหุ้น 100% ในบริษัท Renewable Energy Corporation จำกัด

 

ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้น 59.46% ใน WEH แต่ในปัจจุบัน หุ้น WEH ในส่วนของตนถูกโอนขายไปให้แก่ บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด ที่จดทะเบียนในฮ่องกง และเป็นของคุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา ซึ่งเป็นคุณแม่ของภรรยา ซึ่งมีการทำนิติกรรมบางส่วนผ่านนายเกษม ณรงค์เดช (บิดา) จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างตนกับพี่น้องในครอบครัว ณรงค์เดช