“อนุสรณ์” กระทุ้ง “กนง.” ลดดอกเบี้ยชะลอบาทแข็ง

13 ก.ค. 2563 | 01:05 น.

“อนุสรณ์” กระทุ้ง “กนง.” ลดดอกเบี้ยชะลอบาทแข็ง ผ่านข้อเสนอนโยบายการเงินเร่งด่วนภายใต้ส่งออกหดตัวรุนแรง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของภาคส่งออกจะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก การผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้ที่กำลังสิ้นสุดลงประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยอาจต้องต่ออายุไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน (จนถึงเดือนเมษายน 2564)

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินช่วยเหลือ “เอสเอ็มอี” (SMEs) ในการเลื่อนการชำระหนี้จะกระทบต่อสถาบันการเงินบางแห่งที่มีอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่สูงนัก และ ธปท ควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มทุน หรือ มีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วย การที่หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เป็นสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ ที่ต้องตระหนักว่า โครงการและมาตรการต่างๆภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้สี่แสนล้านบาทนั้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบ มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย

ขณะเดียวกันต้องมุ่งเป้าไปที่การขยายการจ้างงานขนาดใหญ่และการช่วยเหลือกิจการต่างๆไม่ให้ปิดกิจการเพิ่มเติม ขณะนี้อย่าไปคาดหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเร็ว ภาคการท่องเทียวจะไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปรกติไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ธุรกิจการท่องเที่ยวและการจ้างงานในกิจการท่องเที่ยวต้องมีการปรับโครงสร้างให้ไปทำงานอย่างอื่นแทนไม่น้อยกว่า 30-40% เพราะอุปทานและห้องพักในโรงแรมที่มีอยู่ในขณะนี้ล้นเกินความต้องการมาก และ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี การสร้างสนามบินแห่งใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ ควรนำเงินงบประมาณไปทำในเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือความเดือนร้อนของประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า

“อนุสรณ์” กระทุ้ง “กนง.” ลดดอกเบี้ยชะลอบาทแข็ง

ทั้งนี้  กระแสเงินระยะสั้นเก็งกำไรยังคงไหลเข้าตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชียและไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นแม้การส่งออกจะหดตัวอย่างรุนแรง อัตราการหดตัวของการส่งออกในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับติดลบ -22.5% (หากหักทองคำ ส่งออกติดลบถึง -27.8%) เป็นอัตราการหดตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์หดตัวติดลบถึง 62.6% ปัญหาการหดตัวของการส่งออกเกิดขึ้นจากทั้งอุปสงค์และความต้องการในตลาดโลกดิ่งลงอย่างชัดเจน

เสริมด้วยการชะงักงันของอุปทานภาคการผลิต Supply Chain Disruption ปัญหาชะงักงันของอุปทานภาคการผลิตที่ทำให้ส่งออกไทยติดลบน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้วหลังจากทุกประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์แล้ว อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของอุปสงค์โลกอย่างชัดเจนยังไม่ถึงจุดต่ำสุดและกว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังปัญหาผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าชำระสินค้าได้ หรือ ชำระเงินล่าช้ามาก

ภาวะดังกล่าวเกิดจากปัญหาการขาดทุนการขาดสภาพคล่องและประสบภาวะล้มละลายของกิจการจำนวนมาก 5 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ซื้อต่างประเทศ (ผู้นำเข้าผ่านระบบประกันการส่งออกของ Exim Bank) เพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 617 ล้านบาท จากการคาดการณ์ของบริษัทการค้าระหว่างประเทศหลายแห่งพบว่า มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศล้มละลายทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 20-30% คิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์

และตัวเลขนี้คิดว่ายังเป็นการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น หากเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐฯรอบใหม่ ปัญหาจะหนักกว่านี้ ส่วนการขยายระยะเวลาการชำระสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนั้น เป็นดัชนีชี้ว่าในครี่งปีหลังปีนี้ จะมีการผิดนัดชำระหนี้เงินค่าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงขอเตือนให้ผู้ส่งออกไทยทำประกันความเสี่ยงไว้ด้วย  

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อุปสงค์ภายในประเทศหรือตลาดโลกอาจเกิดภาวะ Pending Demand ในเดือน ก.ค. และ ในเดือน ส.ค. เป็นภาวะฟื้นตัวของอุปสงค์ชั่วคราวจากความต้องการที่ถูกปิดกั้นเอาไว้ในช่วงปิดเมือง และการเพิ่มขึ้นของ Pending Demand ไม่ได้เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใดๆทั้งสิ้นตราบเท่าที่คนจำนวนมากยังว่างงานและไม่มีรายได้ที่มั่นคง

อย่างไรก็ดี การนำเข้าที่ติดลบสูงถึง -34.4% จึงทำให้การค้ายังคงเกินดุล 2,694 ล้านดอลลาร์ แต่เป็นการเกินดุลที่ไม่พึงปรารถนา เพราะการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรอุปกรณ์หดตัวหนักมากสะท้อนการลงทุนที่ซบเซาในอนาคต ส่วนการเกินดุลการค้าแบบนี้เมื่อผสมเข้ากับเงินระยะสั้นไหลเข้าเก็งกำไรจึงไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อเศรษฐกิจมากนัก และ ยิ่งซ้ำเติมให้ภาคส่งออกอ่อนแอลงอีกจากการแข่งขันด้านราคาที่ด้อยลงอย่างรวดเร็วจากการแข็งค่าของเงินบาท

“อนุสรณ์” กระทุ้ง “กนง.” ลดดอกเบี้ยชะลอบาทแข็ง

“ธปท.จึงต้องกล้าตัดสินใจเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้ามาในระบบเพิ่มเติม เป็นการชะลอการแข็งค่าเงินบาทพร้อมกับเสริมสภาพคล่องให้กับภาคการเงินและภาคธุรกิจไปในตัว บริหารอัตราแลกเปลี่ยนในเชิงรุกเพื่อให้ เงินบาท อ่อนค่าลง และอาจต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในการประชุมของ กนง. ครั้งต่อไป”

นอกจากนี้  ควรเพิ่มปริมาณเงิน Soft Loans และกำกับดูแลกำชับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าเร็วกว่านี้ เนื่องจากยังมีกิจการขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลางจำนวนมากยังไม่สามรถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้ การที่ลูกหนี้ของสถาบันทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงิน ไม่มั่นใจต่อ ฐานะของกิจการโดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็ก
              การเคลื่อนตัวจาก “ภาคการเงิน” ที่มีเสถียรภาพ สู่ ภาคการเงิน “เปราะบาง” เกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และ มีแนวโน้มเกิดภาวะหนี้เสียและวิกฤตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน เรามีความจำเป็นต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบ “countercyclical” หรือ แบบต่อต้านภาวะเศรษฐกิจหดตัว มากขึ้นอีก ผลักดันให้เกิดระบบ Smart Banking and Financial Market System อย่างทั่วถึง มีนโยบายแก้ปัญหา Shadow Banking และการเงินนอกระบบ  การกำกับดูแลและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง