“อุตตม”พร้อมแจงงบ 64 มั่นใจผ่านสภาฯฉลุย

25 มิ.ย. 2563 | 11:32 น.

อุตตม ถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมแจงงบปี 64 มั่นใจผ่านสภาฯ ฉลุย ย้ำเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

นายธนกร  วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า วันนี้นาย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในวาระ 1 ระหว่างวันที่ 1 - 3 กรกฎาคม 2563 นี้

“อุตตม”พร้อมแจงงบ 64 มั่นใจผ่านสภาฯฉลุย

โดยการจัดทำ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ซึ่งพิจารณาครอบคลุมในทุกแหล่งเงิน ทั้งในส่วนของเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ และเงินสะสมคงเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายธนกร กล่าวว่า แนวทางในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 ภายใต้วงเงิน 3.3 ล้านบาท สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเน้นแนวทางการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนในทุกมิติ ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ โดยยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณในปี 2564 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงิน 795,806 ล้านบาท 2.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ วงเงิน 577,752 ล้านบาท

 

3. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 556,529 ล้านบาท 4.ด้านความมั่นคง วงเงิน 416,004 ล้านบาท 5.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 402,311 ล้านบาท และ 6.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 118,315 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ยังให้ความสำคัญต่อความเชื่อมโยงกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด มั่นใจว่า จะผ่านการพิจารณาของ สภาฯ อย่างแน่นอน