อดีตขุนคลัง แนะรัฐไม่ควรออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ตลอดชีพ

09 มิ.ย. 2563 | 08:31 น.

อดีตขุนคลัง แนะรัฐไม่ควรออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ตลอดชีพ หวั่น “เงินออม” ชาวบ้านหาย

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติธาดาธำรงเวช​ อดีตรมว.คลัง​ ออกมาเตือนพี่น้องประชาชนว่า ช่วงนี้เห็นมีข่าวบริษัทเอกชน​ จะ ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ตลอดชีพ​ (Subordinated perpetual bond)​ ขายให้ประชาชน​ ซึ่งหลายคนสนใจจะซื้อ​ เพราะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติมาก​ แต่ยังไม่เข้าใจว่า​การให้ยืมเงินแก่บริษัทเอกชนแบบนี้จริงๆ​แล้ว​ คืออะไร และเพื่อให้เข้าใจตรงกันจึงขออธิบายพอสังเขปไว้ ดังนี้

1.หุ้นกู้ตลอดชีพ​ (Perpetual bond) คือการเอาเงินต้นของเราให้บริษัทไปเลย​ เขาไม่คืนเงินต้นให้เรา แล้วเขาสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้เราตลอดไป​อีกเป็น1000ๆ​ ปีข้างหน้า​ ในปีแรกๆ​ อัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าปกติ​มาก แต่ปีหลังๆ​ ยังไม่แน่

2. หุ้นกู้ตลอดชีพแบบนี้​ ยิ่งเป็นหุ้นกู้แบบด้อยสิทธิ์​ (คือมีสิทธิ์เรียกร้องน้อยกว่าตราสารแบบอื่น​ๆ)​ ด้วยแล้ว​ เมื่อบริษัทเจ๊ง ก็อาจจะไม่ได้อะไรคืนเลย

3. เมื่อเวลาผ่านไป​ราคาหุ้นกู้ตลอดชีพ ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ​ จนไม่มีค่า​อะไร เพราะบริษัทไม่คืนเงินต้น​ 

4. เราต้องรอให้ได้ดอกเบี้ยรวม​ ให้เกินเงินต้นที่หายไป​ และสวดมนต์​ภาวนา​ให้​ บริษัทไม่เจ๊งไปก่อน

5. รัฐบาลไม่ควรเห็นชอบให้บริษัทเอกชนกู้เงินแบบนี้​ แม้ตัวรัฐบาลไทยเอง​ ก็ไม่เคยออกพันธบัตร​ (หุ้นกู้)​ แบบนี้​ อย่างยาวที่สุดก็เป็นพันธบัตรไม่เกิน 30​ ปี​ และต้องคืนเงินต้น

อดีตขุนคลัง แนะรัฐไม่ควรออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ตลอดชีพ

อดีตขุนคลัง แนะรัฐไม่ควรออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ตลอดชีพ

“ขอให้รัฐบาลพิจารณาไม่ให้มีการออกหุ้นกู้เอกชนโดยไม่คืนเงินต้น​ เพราะประชาชนฟังชื่อแล้วไม่เข้าใจ​ เงินต้นที่ตั้งใจจะออมไว้​ (เพื่อกินดอก​เบี้ย)​ จะหายไปหมด"

“ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ปล่อยให้มีการออกหุ้นกู้แบบนี้ได้​ รัฐบาลต้องกลับไปคิดใหม่ให้ดี​ เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากตลาดเงิน​ตลาดทุน จนเกินไป" ศ. ดร.สุชาติ​ ธาดาธำรงเวช กล่าวทิ้งท้าย