“การบินไทย” เผย 5 แนวทางฟื้นฟูกิจการ

08 มิ.ย. 2563 | 09:49 น.

“การบินไทย” เผย 5 แนวทางฟื้นฟูกิจการ คาดเริ่มดำเนินการตามแผนได้ในมิ.ย.64 แล้วเสร็จภายในปี 2569 ย้ำยังไม่มีเจ้าหนี้ยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินและยึดเครื่องบินคืน

บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)ได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้น นักลงทุนและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงแนวทางขั้นตอนการแก้ไขและแนวทางการยื่นศาลล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการ

 นางสาวอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) เปิดเผยว่า จากการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้ขึ้นเครื่องหมาย C (Caution)ในการซื้อขายของหุ้น THAI ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงได้ขอยื่นต่อ ศาลล้มละลาย เพื่อขอ ฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563

“การบินไทย” เผย 5 แนวทางฟื้นฟูกิจการ

จากนั้นศาลได้รับคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม และจะนัดไต่สวนในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนได้ในเดือนมิถุนายน 2564 และคาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือ ปี 2569 ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการ ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 5 แนวทางคือ

1.การปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจรจาเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ เพื่อให้ภาระการชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของการบินไทย รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นและปรับโครงสร้างเงินทุนในระยะยาว

2.ปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน ด้วยบริหารจัดการหรือยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไร หรือไม่สามารถปรับปรุงให้สามารถทำกำไรในอนาคตได้ อีกทั้งปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเส้นทางการบินให้เหมาะสมมากขึ้น และปรับลดประเภทของเครื่องบินในฝูงบินเพื่อลดต้นทุน

3. ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น การตั้งบริษัทย่อย จัดหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมทุน หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของหน่วยธุรกิจ

4. ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ ด้วยการปรับปรุงระบบและรูปแบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร เป็นการจำหน่ายตรง ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการหารายได้ - ปรับปรุงโครงสร้างการคิดค่าตอบแทน เงื่อนไข และการประเมินผลงานของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสมและรัดกุมมากยิ่งขึ้น และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำหนดราคาบัตรโดยสารและการปล่อยที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด

5. ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยปรับปรุงองค์กรให้กระชับ ลดงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น เพิ่มศักยภาพการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน พิจารณาปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตของการบินไทย นอกจากนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของพนักงาน และสวัสดิการของพนักงานให้เปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“สาเหตุที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดและที่กำลังจะถึงกำหนดได้ มาจากปัญหาจากสภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะแข่งขันในธุรกิจสายการบินปรับเปลี่ยน และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศ ภายในประเทศ และการเปิดน่านฟ้าเสรี"

รวมถึงปัญหาจากโควิด-19 ต้องยกเลิกเที่ยวบินอย่างกระทันหัน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการบินต้องหยุดให้บริการ ผู้โดยสารขอคืนเงิน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สุดวิสัยอันไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้ขาดความคล่องตัวในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการคือ ความร่วมมือของเจ้าหนี้ ซึ่งการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จตามเป้าหมาย ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ที่เพียงพอตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ทำแผน การพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน และการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผน

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนของรัฐบาลในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้อย่างประสบความสำเร็จ

ด้านปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย แนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เช่น New Normal ในการเดินทาง การจำกัดจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ, การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน, การชะลอตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ Disruptive Technology ต้น นอกจากนี้ ยังมีสภาพเศรษฐกิจโดยรวม นโยบายของรัฐบาลและความมั่นคงทางการเมือง ภัยพิบัติและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ

ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิ เส้นทาง และเวลาการบิน การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ ความผันผวนของราคาน้ำมัน จำนวนหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ และความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผน

“ผลที่อาจเกิดขึ้นหากการบินไทยไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ อาจถูกบอกเลิกสัญญาและสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการบิน และต้องถูกฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้จนล้มละลายในที่สุด ซึ่งหากการบินไทยล้มละลายจะก่อให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ตามมา เช่น ธุรกิจหยุดชะงัก พนักงานว่างงาน และบริษัทที่การบินไทยว่าจ้างอาจประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน"

ส่วนหุ้นของการบินไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ทั้งหลายได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เนื่องจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวถือเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

นอกจากนี้ได้เสนอแต่งตั้งผู้มีประสบการณ์ให้เข้ามาจัด แผนฟื้นฟูกิจการ คือ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวเซอรี เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงกรรมการบริษัทดังต่อไปนี้ 1. พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล 3’ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ และ 6. นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งอำนาจหน้าที่และสิทธิตกแก่ผู้ทำแผนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน คือ 1. อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของการบินไทย 2. บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของการบินไทยยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และ 3. อำนาจจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

ด้านนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาการเปิดให้บริการตามปกติได้ เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการทำ แผนฟื้นฟูกิจการ โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้บริหารสภาพคล่องอย่างรัดกุม ลดภาระค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เพื่อรักษาสภาพคล่องให้ยาวที่สุด

"หลังจากการพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว กระทรวงการคลังไม่สามารถสนับสนุนเงินทุนโดยตรงได้ ทั้งการปล่อยกู้ และค้ำประกัน แต่บริษัทยังสามารถกู้เงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนว่าต้องการจำนวนเท่าไหร่ และจากช่องทางไหน รวมถึงหาพันธมิตรใหม่เพื่อเข้ามาเพิ่มความแข็งแกร่งด้วย"

ศาสตราจารย์พิเศษ กิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายระบุว่า ขณะนี้ได้เจรจากับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินหลายราย เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี โดยทางเจ้าหนี้ได้อนุญาตให้ใช้เครื่องบินต่อไปได้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการแจ้งยกเลิกสัญญาหรือยึดเครื่องบินคืนแต่อย่างใด