กลุ่มปตท. อ่วม ขาดทุนครั้งแรกในรอบ19ปี

14 พ.ค. 2563 | 01:00 น.

บริษัทกลุ่มปตท.อ่วม ไตรมาสแรกปี 63 กำไรสุทธิสูญ 76,582.75 ล้านบาท พลิกขาดทุน 22,805.47 ล้านบาท มาร์เก็ตแคปหาย 965,794.38 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โบรกคาดไตรมาส 2 ฟื้น

สิ้นสุดการรอคอยกับ ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไทยขนาดใหญ่ งวดไตรมาส 1 ปี 2563 อย่างกลุ่มปตท. ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ แค่เพียงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัทแม่บริษัทเดียว แต่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงเป็นอันดับ 1 รวมถึงเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่สำคัญการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในแต่ละครั้ง ยังมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยอีกด้วยทำให้เป็นที่จับตามองของนักลงทุนอย่างมาก

 

รายงานข่าวจากตลท.เปิดเผยว่า บริษัทในกลุ่มปตท.ได้แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 6 บริษัท คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) โดยรวมทั้ง 6 บริษัท มีผลขาดทุนสุทธิ 22,805.47 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 76,582.75 ล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 53,737.27 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปีก่อน ขณะที่มาร์เก็ตแคปรวมอยู่ที่ 1,550,991.13 ล้านบาท ลดลง 965,794.38 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2,516,785.51 ล้านบาท

 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 PTT ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ลดลง 30,866 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 29,312 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ลดลง 48,138 ล้านบาท หรือ 59.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 มาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีผลขาดทุนจากสต๊อกนํ้ามัน ตามราคานํ้ามันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากสงครามราคานํ้ามัน สภาวะอุปทานล้นตลาด จากการที่กลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตได้ และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์นํ้ามันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

กลุ่มปตท. อ่วม ขาดทุนครั้งแรกในรอบ19ปี

ขณะที่ธุรกิจสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานลดลงตามปริมาณการขายและราคาขายที่ลดลง ส่วนกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็ลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ตามปริมาณขายที่ลดลงในไตรมาส 1 ปี 2563 เนื่องจากทั้งโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 5 และลูกค้าโรงปิโตรเคมีปิดซ่อมบำรุงตามแผน ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) ของ GPSC ในเดือนมีนาคม 2562

 

นายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า ผลการดำเนินงานของ PTT ที่พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่เข้าตลท.ในปี 2544 ซึ่งเกิดจากบริษัทในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่มีผลขาดทุนจาก stock loss จำนวนมาก โดยธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีมีผลขาดทุน 32,331 ล้านบาท ธุรกิจก๊าซธรรมชาติกำไรสุทธิที่ 9,601 ล้านบาท ธุรกิจนํ้ามันมีกำไรที่ 2,465 ล้านบาท และธุรกิจสำรวจและผลิตฯ มีกำไร 16,596 ล้านบาท

 

ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้จะฟื้นกลับมามีกำไรที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท จากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่จะกลับมามีกำไร และเชื่อว่า ผลดำเนินงานไตรมาสแรกเป็นจุดตํ่าสุดของผลประกอบการปีนี้ไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างปรับประมาณการและคำแนะนำ

 นายดุลเดช บิค นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า คาดว่าแนวโน้มไตรมาส 2 จะดีขึ้นจากไตรมาสแรก เพราะค่าการกลั่นฟื้นตัวจากราคานํ้ามันดิบ ลดลง ความผันผวนของราคานํ้ามันน้อยลง ทำให้จะขาดทุนสต๊อกไม่มากเท่ากับไตรมาสแรก สเปรดปิโตรเคมีกลุ่มโอเลฟินส์ดีขึ้นจากต้นทุนที่ตํ่าลง รวมถึงผลกระทบจากรายการ FX น้อยลงด้วย แต่บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยราคา NGV ลดลงจากการที่รัฐบาลขอให้บริษัทช่วยอุดหนุนลดผลกระทบกับประชาชนซึ่งธุรกิจ NGV จะขาดทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 และอุปสงค์นํ้ามันที่ตํ่าในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งนี้ แนะนำถือ ในราคาพื้นฐาน 37 บาท

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563