สรุปชนวนสหรัฐฯสังหารนายพลอิหร่าน  พร้อมประเมินทางเลือกที่อิหร่านจะใช้ตอบโต้สหรัฐฯ

10 ม.ค. 2563 | 09:15 น.

คอลัมน์ครบเครื่องเรื่องทองกับYLG

โดย พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร   บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ผลักดันให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,588.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ในช่วงเช้าที่ตลาดเอเชียของวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563 หลังจากเหตุการณ์สังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญระดับต้นๆ ของอิหร่าน และผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่าน ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า เป็นผู้สั่งการดังกล่าว โดยอ้างว่า การสังหารนายพลอิหร่าน เพื่อป้องกันสงคราม ขณะที่ผู้นำอิหร่านลั่นเตรียมล้างแค้น พร้อมชักธงแดงเหนือยอดสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ถือได้ว่าเหตุสังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และเพิ่มรอยร้าวให้กับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิหร่าน ที่เริ่มตกตํ่ามาตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวจากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ที่ทำไว้ร่วมกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561

คำถาม คือ อิหร่านจะตอบโต้เหตุการณ์นี้หรือไม่ และอย่างไร? คำตอบ คือ อิหร่านจะตอบโต้เหตุการณ์ครั้งนี้อย่างแน่นอน แต่มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศว่า การตอบโต้จากอิหร่านจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา ขณะที่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่อิหร่านจะเปิดฉากตอบโต้ โดยใช้กำลังทางการทหารโดยตรง เนื่องจากจะไม่เป็นผลดีต่ออิหร่านเอง เพราะแสนยานุภาพของกองกำลังทหารอิหร่านนั้นยังเทียบไม่ได้กับกองทัพสหรัฐฯ ดังนั้น จึงคาดการณ์การสู้รบของอิหร่านส่วนใหญ่จะพึ่งพาการรบในแบบกองโจรเป็นหลัก ทั้งนี้ ทาง YLG จึงได้สรุปรวมทางเลือกที่เป็นไปได้ว่า อิหร่านจะใช้เพื่อดำเนินตอบโต้สหรัฐฯ ดังนี้

1. โจมตีเรือบรรทุกนํ้ามันและโรงกลั่นนํ้ามัน เมื่อปีที่แล้ว มีการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันหลายครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายระบุว่า มีความเชื่อมโยงกับอิหร่าน และการตอบโต้บางส่วนของอิหร่านอาจเป็นการโจมตีที่คล้ายคลึงกัน

สรุปชนวนสหรัฐฯสังหารนายพลอิหร่าน  พร้อมประเมินทางเลือกที่อิหร่านจะใช้ตอบโต้สหรัฐฯ

 

2.ปิดช่องแคบฮอร์มุซ อิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องทางการขนส่งน้ำมันที่สำคัญในภูมิภาค โดยอุปทานนํ้ามันทั่วโลกมากกว่า 20% มีการขนส่งผ่านช่องแคบดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกับทั้งสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลก

3.โจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งผลประโยชน์ ทรัพย์สิน รวมทั้งสถานทูต สถานกงสุล เส้นทางเดินเรือ และคลังนํ้ามันของสหรัฐฯ กระจายอยู่ทั่วโลก แต่การโจมตีทรัพย์สินของสหรัฐฯ อาจมาจากกองกำลังต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากอิหร่านโดยตรง เพื่อให้คำปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องของอิหร่านฟังดูมีนํ้าหนัก

4. โจมตีทางไซเบอร์ ที่ผ่านมาอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การโจมตีวอลล์สตรีตในปี 2012, การโจมตีระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตุรกีในปี 2015 และการโจมตีอี-เมล์ของเจ้าหน้าที่รัฐสภาอังกฤษโดยแฮกเกอร์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับอิหร่านในปี 2017 และล่าสุด คือ ลักลอบดึงข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยแฮกเกอร์ชาวอิหร่าน

 

5.เสริมสมรรถนะยูเรเนียม อิหร่านอาจยกระดับการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ไปอีกขั้น หลังจากเริ่มต้นการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอีกครั้งที่อาคารใต้ดินในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นการขัดกับข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านได้ทำร่วมกับนานาประเทศเมื่อ 4 ปีก่อนก็ตาม และอิหร่านอาจใช้โอกาสนี้เสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมให้ขยับออกห่างจากข้อตกลงนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าอิหร่านจะตอบโต้ด้วยวิธีไหน สถานการณ์ในตะวันออกกลางยิ่งยืดเยื้อ และเลวร้ายลงจนยากต่อการแก้ไข ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าว จะเป็นหนึ่งปัจจัยที่สร้างเสถียรภาพให้กับราคาทองคำในระยะยาว ยิ่งหากสถานการณ์ลุกลามหรือเกิดการตอบโต้ทางการทหารอย่างรุนแรง ราคาทองคำจะตอบสนองเชิงบวกได้อย่างมาก

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไม่ทวีความรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายวิตก อาจสร้างแรงขายเข้าสู่ตลาดทองคำในระยะสั้นได้ จึงยังคงแนะนำนักลงทุนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563