ได้แค่จิ๊บๆ"สาทิตย์"ยื่นหนังสือนายกฯทวงวัคซีน"ตรัง"

01 ก.ค. 2564 | 10:10 น.

ส.ส.สาทิตย์ทวงวัคซีนตรัง ยื่นหนังสือ"บิ๊กตู่-กรรมการ ศบค."  ชี้วัคซีนแค่เกณฑ์จัดสรรขั้นต่ำ ทั้งที่เป็นพื้นที่สีแดงลำดับถัดลงมา วอนปรับวิธีจัดสรรตามสัดส่วนประชากร แนะเร่งฉีดกลุ่มเสี่ยง-โรงงานเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯตรังยืนยัน เดือนก.ค.ได้แน่ 1 แสนโดส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2564 โรงพยาบาลศูนย์ใช้พื้นที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 รอบนี้นัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการศึกษา สังกัดโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดตรัง จำนวน 3,000 คน   ตั้งแต่เวลา 09.00 น. วันละ 1,500 คน รวม 2 วัน  
  

นายสาทิตย์    วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์  เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ระบบการจัดสรรวัคซีนยังมีปัญหามาก หลายจังหวัดประสบปัญหาเรื่องของวัคซีนไม่เพียงพอ ขณะที่บางจังหวัดก็มีล้นเหลือ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง 15 อับดับนั้น จังหวัดลำดับที่  7-15 มักจะได้วัคซีนไม่พอเพียง คนที่ลงทะเบียนไว้ก็ถูกเลื่อน 
    

ส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 400 กว่าโรงงาน รวมคนงานมากกว่า 10,000  คน วันก่อนเกิดคลัสเตอร์โรงงานถุงมือยางมีผู้ติดเชื้อจำนวนสูงมาก เมื่อโรงงานต้องปิดส่งผลทางกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง แต่การจัดสรรวัคซีนกลับได้รับแบบตามปกติ ทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดความมั่นใจได้ 
    

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ในพื้นที่ คือ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด และประธานชมรมธนาคารจังหวัดตรัง ได้ประชุมทางไกล(วิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์)กับตน แจ้งว่าการจองวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ถูกยกเลิก เนื่องจากไม่สามารถจองในนามส.อ.ท.ได้ และโอนเรื่องคืนทั้งหมด จึงไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มมาฉีดให้กับคนงานในโรงงาน 
  นายสาทิตย์    วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2    
 

ตรังจัดฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง รอบนี้เป็นกลุ่มครูโรงเรียนเอกชน 3,000 คน

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ตนร่วมกับส.ส.นิพันธ์ ศิริธร ตรัง เขต 1 ได้เข้าพบและยื่นหนังสือคณะกรรมการ ศบค. ส่วนกลาง เพื่อแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในตรัง ว่าทั้งวัคซีนหลักที่มาไม่ครบถ้วน กับวัคซีนตัวเลือกคือซิโนฟาร์ม ทางโรงงานก็ไม่ได้รับ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับภาคโรงงานและภาพรวมของทั้งจังหวัด ให้เร่งแก้ปัญหา
    

1.ตัววัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดสรรควรให้ตรังเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เดือนมิ.ย.ที่ผานมา ตรังขอรับจัดสรรทั้งวัคซินแอสตรา เซเนก้า และซิโนแวค 50,000 โดส ก็ได้รับจัดสรรเพียง 1,000 โดส แม้ภายหลังจะเพิ่มให้แต่ก็ไม่ถึง 51,000 โดสอยู่ดี  และ
    

2.ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้น สมควรจะพิจารณาจัดสรรให้ โดยอาจจะผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือผ่านทางวัคซีนหลักโดยเร็ว เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันใหมู่ให้เกิดขึ้นในโรงงาน เพื่อจะไม่เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์โรงงานเกิดขึ้นมาอีก เพราะส่งผลกระทบต่อตัวคนงาน เลยไปถึงราคายางพารา และเศรษฐกิจโดยรวมของตรังด้วย จึงต้องทำทั้งสองส่วนไปด้วยกัน 
    

"การจัดสรรวัคซีนเป็นอำนาจของ ศบค.กลาง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวบริหารจัดการในส่วนที่ได้รับการจัดสรรแล้ว ในสภาฯมีการเสนอ ศบค.บ่อยครั้ง ว่าวัคซีนที่ได้มา ควรจัดสรรตามสัดส่วนประชากร อย่างตรังกับพัทลุง ที่ตรังคนเยอะกว่าแต่เราได้รับการจัดสรรใกล้เคียงกัน เป็นปัญหาหนึ่งในวิธีการจัดสรรของ ศบค."
    

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงความเสี่ยง ตรังมีความเสี่ยงเยอะกว่าจังหวัดใกล้เคียง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ ติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ แต่เมื่อได้รับมอบวัคซีนเข้ามา ก็จัดสรรเทไปให้จังหวัดเสี่ยงสูงมากเดินไป จนทำให้จังหวัดที่เสี่ยงในลำดับถัด ๆ ลงมาไม่ได้ ตอนนี้ยังไม่วางใจ ในฐานะส.ส.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป และโดยส่วนตัวได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค.อีกทางหนึ่งด้วย และจะไปตามเรื่องนี้ต่อในการที่จะจัดสรรวัคซีนให้ตรังมากขึ้น เพราะช่วงนี้มีแนวโน้มตัวเลขการติดเชื้อลงไปในชุมชน เป้าหมายฉีดวัคซืนให้ได้ 70 เปอร์เซ็น ยังฉีดไปไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นเลย ก็ต้องไปทวงวัคซีนให้ตรัง
    

 นายขจรศักดิ์   เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

ด้านนายขจรศักดิ์   เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า  เรื่องวัคซีนทุกจังหวัดมีความจำเป็นที่จะร้องขอรัฐบาลเพิ่มขึ้น ในส่วนของจังหวัดตรังเอง จากสถานการณ์ที่ผ่านมาอยู่ในพื้นที่สีแดง เพราะฉะนั้นแผนของรัฐบาลจัดสรรวัคซีนมาให้ตรังในเดือนกรกฎาคมจำนวน 1 แสนโดส ส่วนแผนการฉีดได้กำหนดว่า กลุ่มที่มีความจำเป็นก่อนคือ กลุ่มครู บุคลากรด่านหน้า อสม. แพทย์ พยาบาล กลุ่มที่อยู่ด่านต่าง ๆ  โดยกลุ่มครูมีอยู่ประมาณ 8 พันกว่าคน ยอดที่จะเข้ามาสามารถฉีดให้กับกลุ่มครูถึง 80 -90 เปอร์เซ็นต์ 
    ในส่วนวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยฯ ส่งคำขอในนามจังหวัดไป 2 กลุ่ม คือ กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีของ อบจ. 40,000 คน หรือ 80,000 โดส ของเทศบาลนครตรัง 20,000 คน หรือ 40,000 โดส ของ อบต.เขาไม้แก้ว 2,000 คน  ในส่วนนี้ทางราชวิทยาลัยฯได้รับเรื่องเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าจะจัดสรรให้ได้ต่อไป 
   

ส่วนของภาคเอกชนที่เป็นสถานประกอบการ มีมากกว่า 50 หน่วยงานที่ส่งคำขอเข้าไป และตอนนี้ได้รับการตอบรับมาประมาณ 2,400 คน และจะทยอยจัดสรรให้ ก็ถือว่าได้มาพอสมควร จากยอดที่ยื่นขอรับจัดสรรรวม 9,300 คน ยอดที่เหลือยังอยู่ ซึ่งทางราชวิทยาลัยฯ ก็ทยอยจัดสรรให้เป็นลำดับ