“แอสตร้าเซนเนก้า” ยันวัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาถึง 92%

16 มิ.ย. 2564 | 08:56 น.

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด แถลงการณ์ยืนยันวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าฯ มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา (เดิมเรียก “สายพันธุ์อินเดีย”) โดยวัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการการลดการนอนโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลตา

ข้อมูลล่าสุดจาก สาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถ ป้องกันสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 เดิมคือสายพันธุ์อินเดีย) ได้ในระดับสูง โดยข้อมูลการใช้วัคซีนที่เผยแพร่ในเอกสารก่อนการตีพิมพ์ (pre-print) ของสาธารณสุขประเทศอังกฤษเมื่อเร็ว ๆนี้ พบว่า

  • หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าครบทั้งสองเข็มแล้ว วัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล และไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด “สายพันธุ์เดลตา”ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
  • สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7 เดิมคือสายพันธุ์อังกฤษหรือเคนท์) โดยมีประสิทธิผลสูงถึง 86% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
  • มีประสิทธิผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการน้อย (mild symptomatic disease) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 74% ในการป้องกันการติดเชื้อ “แบบมีอาการ” จากสายพันธุ์อัลฟา และ 64% จากสายพันธุ์เดลตา
  • ประสิทธิผลที่สูงขึ้นของวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคและการนอนรักษาในโรงพยาบาล พิสูจน์ได้จากการที่ทีเซลล์มีการตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งสัมพันธ์กันกับการป้องกันที่นานและมีประสิทธิภาพสูงด้วย

“แอสตร้าเซนเนก้า” ยันวัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาถึง 92%

นายเมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนา BioPharmaceuticals กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้วัคซีนจริง แสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในระดับที่สูง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผู้คนต่างมีความกังวล เนื่องจากสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะยังมีบทบาทสำคัญมากทั่วโลก โดยยังคงมีความต้องการใช้วัคซีนในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย และบรรดาประเทศที่เข้าร่วมในโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนโควิดส่งมอบให้ประเทศกำลังพัฒนารายได้น้อยถึงปานกลาง

จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตารวม 14,019 ราย ในประเทศอังกฤษ มี 166 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 12 เมษายน ถึง 4 มิถุนายน 2564 ข้อมูลการใช้วัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตานี้ รวบรวมจากการติดตามผลแบบเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน

ทั้งนี้ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ B.1.617.2) เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในอนุทวีปอินเดีย และมีแนวโน้มจะระบาดไปในประเทศต่างๆทั่วโลก ปัจจุบัน สายพันธุ์เดลตาได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟาที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศสกอตแลนด์ และเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอังกฤษ

คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization - SAGE) ได้แนะนำให้มีการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง