"หมอศิริราช" จวกอีกคนรวมข้อมูลเตียงผู้ป่วยโควิดรุนแรง-วิกฤต กทม. มีปัญหาการนับเลข

01 มิ.ย. 2564 | 23:00 น.

หมอนิธิพัฒน์ตำหนิคนรวบรวมขอมูลตัวเลขเตียงผู้ป่วยโควิดรุนแรงและวิกฤตในกทม.มีปัญหาการนับเลข หลังระบุว่างอีก 20%

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความส่วนหนึ่ง ว่า 
    ช่วงนี้ออกจากบ้านสายหน่อยเพื่อออกไปทำงานที่รพ.พลังแผ่นดินและรพ.ราชทัณฑ์ก่อนเข้าศิริราช ทำให้มีโอกาสฟังข่าวเจ็ดโมงเช้าอยู่บ่อยๆ เมื่อวานเพิ่งออกปากชมสื่อในกำกับรัฐช่องทางหนึ่งไปหยกๆ วันนี้ต้องติสื่อทางเสียงนี้เล็กน้อย เพราะเนื้อหาที่ได้จากแหล่งข่าวของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ฟังแล้วระคายหูแทนบุคลากรหน้างาน เพราะแจ้งว่าเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดรุนแรง/วิกฤตในกทม.มีราว 1,000 เตียงเล็กน้อย ยังเหลือว่างอีกกว่า 20% 
    คนรวบรวมข้อมูลคงมีปัญหาการนับเลขเช่นเคย เพราะถ้าถามคนที่เกี่ยวข้อง เวลาเขาต้องส่งผู้ป่วยประเภทนี้ออกไปโรงพยาบาลอื่นเพราะเกินศักยภาพตัวเอง มันช่างยากเย็นแสนเข็ญเสียจริงๆ และส่วนใหญ่จะต้องรอเตียงว่างอยู่หลายวันจึงจะส่งไปได้ หรือบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่อยู่รอให้ส่งต่อได้ ยังดีว่าช่วงนี้แนวโน้มผู้ป่วยประเภทนี้เริ่มลดลงแล้ว หวังว่าจะได้เห็นผู้เสียชีวิตรายวันใน กทม.เป็นเลขหลักเดียวในไม่ช้า ยิ่งแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยใหม่ใน กทม.เริ่มลดลงแล้ว หวังว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง ส่วนที่น่าห่วงคือบางจังหวัดดังรูป ซึ่งทั้งหมดเป็นการระบาดจากคนงานในโรงงานขนาดใหญ่
    #ภาครัฐโปรดสื่อสารความจริงกับประชาชน

10 จังหวัดติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดวันที่ 1 มิ.ย.64
    สำหรับหมอนิธิพัฒน์ นั้น  ถือว่าเป็นบุคลลากรทางแพทย์ท่านหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 (Covid-19) ที่มักจะไม่ตรงกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา จนเกิดแฮชแท็กประจำตัว  #ภาครัฐโปรดสื่อสารความจริงกับประชาชน โดยก่อนหน้าได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรายงานสาเหตุผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง  ซึ่งโรงพยาบาลต้นทางรายงานว่าเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 โดยถือว่าเป็นการจงใจปกปิดข้อมูลทำให้ภาพรวมการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ภาคความมั่นคงและภาคประชาชนไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่แท้จริง และไม่กวดขันเข้มงวดเพื่อช่วยลดการสูญเสียของการระบาดในวงกว้าง 

    ทั้งนี้  จากโพสดังกล่าวที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอจนกลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันออกไปเป็นวงกว้าง  โดยมียอดแชร์จากเว็บไซด์ฐานเศรษฐกิจมากกว่า 4.2 หมื่นแชร์ จากประเด็นที่นำเสนอดังกล่าวได้ถูกส่งไปถึงโฆษก ศบค. จนต้องออกมาระบุว่าจะนำเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการวิชาการของกรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขถึงแนวทางที่ถูกต้องว่าควรจะเป็นอย่างไร
    หลังจากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโทรหา หมอนิธิพัฒน์ เพื่อต้องการตรวจสอบประเด็นเรื่อง หมอศิริราช ระบุแพทย์ปิดบังยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตโดยรวมต่ำกว่าความเป็นจริง  จึงต้องการทราบว่ามีข้อมูลสนับสนุนหรือไม่ เพราะมีการพาดพิง ซึ่งหมอนิธิพัฒน์ได้ตอบกลับไปแบบผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก พร้อมกับให้ความรู้เรื่องโควิด-19

    นอกจากนี้ หมอนิธิพัฒน์ ยังได้มีการโพสตำหนิเรื่องการให้ข้อมูลเตียงของผู้ป่วยที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหน้างาน โดยตั้งชื่อให้ว่าเป็น "เตียงทิพย์" เพราะมีการายงานไปว่า เตียงโควิดสีเหลืองและแดงใน กทม.ยังว่างพอควร พร้อมกับอธิบายความเป็นจริงให้ได้รับรู้อย่างที่ควรจะเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :