ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อประคองเศรษฐกิจจากโควิดระลอกสาม "หมอเฉลิมชัย" ชี้ตายพุ่ง 15.61 เท่าตัว

01 มิ.ย. 2564 | 01:35 น.
อัพเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2564 | 01:39 น.

หมอเฉลิมชัยเปิดข้อมูลราคาที่รัฐต้องจ่ายจากการไม่ล็อกดาวน์เพื่อประคองเศรษฐกิจจากโควิดระลอกสาม พบผูติดเชื้อเพิ่มขึ้น 32.73 เท่าตัว และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15.61 เท่าตัว 

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า  
    ติดเชื้อเพิ่ม 32 เท่า ตายเพิ่ม 15 เท่า คือราคาที่มิติสาธารณสุขต้องจ่าย เพื่อประคองมิติเศรษฐกิจ  ในโควิดระลอกที่ 3
    วันนี้ 31 พฤษภาคม 2564 ครบสองเดือนเต็มแล้ว สำหรับสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย 
    เราลองมาทบทวนดูเรื่องราวทั้งหมด โดยเฉพาะมาตรการที่ออกมาว่า มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด การที่ไม่ใช้มาตรการเข้มข้น คือการล็อกดาวน์แบบระลอกที่หนึ่ง มีราคาที่ต้องจ่าย (Price to pay) ด้วยมิติทางสาธารณสุขมากน้อยขนาดไหน  คุ้มค่าหรือไม่อย่างไร กับการประคับประคองดูแลมิติทางเศรษฐกิจ
    ประเทศไทย เริ่มมีการระบาดระลอกที่หนึ่ง โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นคนจีนที่เดินทางมาสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563
    มีการระบาด เริ่มจากคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี และสถานบันเทิงผับ-บาร์ ย่านทองหล่อ ตลอดระยะเวลาสองเดือน คือ มีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 รัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้น คือล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว
    ส่วนการระบาดระลอกที่สอง เริ่มต้นวันที่ 17 ธันวาคม 2563 จากแม่ค้าที่ตลาดตำบลมหาชัย อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร จนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นเวลาสามเดือนครึ่งหรือ 105 วัน ใช้มาตรการผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ล็อกดาวน์และประกาศเคอร์ฟิว
    การระบาดระลอกที่สาม นับเริ่มต้นตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน 31 พฤษภาคม 2564 นับได้ 61 วันเต็ม เริ่มจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ พร้อมกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ (B.117) มาตรการใช้ทำนองเดียวกับระะลอกที่สอง คือไม่ประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการไม่ล็อกดาวน์
    ผลที่ได้ แต่ละระลอกปรากฏดังนี้
    ระลอกที่หนึ่ง 
    ติดเชื้อ 4000 คน
    เสียชีวิต 60 คน
    ระลอกที่สอง
    ติดเชื้อ 24,463 คน
    เสียชีวิต 34 คน
    ระลอกที่สาม
    ติดเชื้อ 130,929 คน
    เสียชีวิต 937 คน
    รวมทั้งสามระลอก ติดเชื้อทั้งสิ้น 159,792 คน เสียชีวิต 1031 คน (0.66%)
    เมื่อนำตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเฉพาะระลอกที่สาม มาเปรียบเทียบความกว้างขวาง(ผ่านการติดเชื้อ) และความรุนแรง(ผ่านจำนวนผู้เสียชีวิต) ระหว่างเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม
จะพบแนวโน้มที่ชัดเจนดังนี้
    เดือนเมษายน
    ติดเชื้อ 36,290 คน
    ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1,209 คน
    เสียชีวิต 109 คน 
    เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 3.63 คน
    เดือนพฤษภาคม
    ติดเชื้อ 94,639 คน 
    ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 3,052 คน
    เสียชีวิต 828 คน 
    เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 26.71 คน
    ความกว้างขวาง คือการติดเชื้อนั้น เดือนพฤษภาคมมากกว่าเดือนเมษายน 2.60 เท่า (260%)
    ความรุนแรง คือการเสียชีวิต เดือนพฤษภาคมสูงกว่าเดือนเมษายน 7.59 เท่า (759%)
แต่ถ้านำตัวเลขระลอกที่สาม ไปเปรียบเทียบกับระลอกที่หนึ่ง ซึ่งใช้มาตรการต่างกัน คือระลอกที่สามไม่ล็อกดาวน์ ส่วนระลอกที่หนึ่งใช้การล็อกดาวน์ ผลจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่า
    ในระลอกที่หนึ่ง 
    ด้านความกว้างขวางของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 4000 คน ในระลอกที่หนึ่ง เป็น 130,929 คนในระลอกที่สาม แตกต่างกันถึง 32.73 เท่า
    ส่วนความรุนแรงของโรค ผ่านการเสียชีวิต เสียชีวิต 60 คนในระลอกที่หนึ่ง เพิ่มเป็น 937 คนในระลอกที่สาม ต่างกันถึง 15.61 เท่า
    นี่คือข้อมูลเบื้องต้นทางด้านสถิติตัวเลขที่จับต้องได้
    ยังไม่นับความเหนื่อยยากแสนสาหัส การกดดันสภาพจิตใจของบุคลากรทางการสาธารณสุข และของบุคลากรที่ไม่ใช่สาธารณสุข แต่ต้องทำงานด่านหน้า แบบหามรุ่งหามค่ำต่อเนื่องกันนานนับเดือนโดยที่ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะบรรเทาเบาบางลง ตลอดจนสภาพจิตใจ ความทุกข์ และภาระของญาติพี่น้องผู้ป่วย และผู้ที่ต้องเสียชีวิต ซึ่งไม่สามารถจะคำนวณเป็นมูลค่าได้
    แต่เพียงเฉพาะตัวเลขที่คำนวณได้นี้ จะพบว่าราคาที่ต้องจ่าย หรือ Price to pay เพื่อประคองมิติทางเศรษฐกิจ ก็คือความหนักหนาของมิติทางสาธารณสุข ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 32.73 เท่าตัว และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15.61 เท่าตัว 
    ไม่มีใครผิดใครถูกในการตัดสินใจ แต่ละประเทศก็มีวิธีการตัดสินใจด้วยเหตุผลที่หลากหลาย การตัดสินใจในการควบคุมการระบาดระลอกหนึ่ง และสองของไทย ซึ่งได้ผลดีมาก มาสู่การระบาดระลอกสามที่ยังไม่ยุตินั้น ควรพิจารณาข้อมูลที่ได้นำเสนอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งประกอบการพิจารณา  การแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็น ในการปรับมาตรการในอนาคตให้มีความเหมาะสมและดีที่สุดกับประเทศไทยต่อไป
เพราะโควิดจะยังไม่จบเพียงแค่วันนี้แน่นอนครับ
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ ได้รวบรวมตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 2,153 ราย จากเรือนจำ 77 ราย รวมยอดติดเชื้อโควิด วันนี้ 2,230 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย หายป่วยเพิ่ม3,390 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 84,309 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :