“อนุพงษ์” ชี้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนเองได้หลังพ้นระยะแรกให้ศบค.อนุมัติ

31 พ.ค. 2564 | 04:25 น.

รมว.กระทรวงมหาดไทย “อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ชี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดซื้อวัคซีนทางเลือกเองได้ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอยกเว้นในระยะแรกเท่านั้น หวั่นเหลื่อมล้ำ ให้ศบค.อนุมัติ

จากประเด็นที่หลายจังหวัดต้องการจะนำงบประมาณไปจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนในจังหวัดตัวเอง แต่ยังติดขัดระเบียบบางข้อทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้นั้น

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ติดล็อกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าระยะแรกเท่านั้นที่รัฐจะเป็นผู้ซื้อ อปท.และภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยตรงได้ ว่า ตามกฎหมาย อปท.ทุกรูปแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พัทยา กทม.สามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนเพื่อป้องกันได้ โดยสามารถดำเนินการได้เอง โดยอำนาจตัวเอง

ประเด็นมาอยู่ที่มีการเข้าใจว่าอันเนื่องมาจากว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย และข้อเสนอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าในการดำเนินการขั้นแรกยังทำไม่ได้ แต่การที่แจ้ง ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งตรงไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และโดยตามกฎหมาย  สถ.จะต้องแจ้งไปยัง อปท. ถึงจะแจ้งให้มหาดไทยทราบ โดยสรุปได้แจ้งไปยัง อปท.ให้ยุติการดำเนินการ จึงยังไม่มี อปท.จัดซื้อ เป็นคำวินิจฉัยและข้อแนะนำดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การจะไปซื้อก็ซื้อตรงไม่ได้ ก็เลยไม่มีการซื้อ มาถึงการพิจารณาข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่าในระยะแรกเท่านั้น ที่ภาครัฐดำเนินการจัดซื้อและบริการฉีดวัคซีน กระจายวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้เอกชนและอปท.จัดซื้อวัคซีนโควิด-19ได้โดยตรง ชัดเจนว่าแจ้งไว้แค่นั้น หากพ้นเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ตามอำนาจหน้าที่ คงไม่ต้องไปถามผู้ตรวจการอีก ก็จบเรื่องกฎหมาย มหาดไทยไม่ได้สั่งโดยตรง เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง

ถ้าในสถานการณ์นี้ อปท. 7 พันกว่าแห่งส่วน อบจ. 76 แห่ง หากมีการจัดซื้อวัคซีนได้โดยไม่ประสานกัน จะมีความวุ่นวาย อย่างไรก็ตามด้วยกฎหมาย ก็มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบไว้ เมื่อมีโรคติดต่ออันตราย หรือต้องเฝ้าระวัง ให้ อปท.สนับสนุนการระงับการแพร่ระบาดได้ โดยสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการควบคุมโรคติดต่อ จะต้องประสานในทางปฏิบัติและด้านนโยบาย

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายสับสน ต้องมาดูว่าหน่วยงานหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจขณะนี้คือกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในความเห็นก็คือว่า ในขณะนี้ต้องมีความเห็น หารือ และข้อยุติจากศบค. ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท้องถิ่นไม่มีงบประมาณจะทำอย่างไร อบจ.เล็กๆไม่สามารถก็เกิดความเหลื่อมล้ำ

ถ้ามีการจัดวัคซีนจากทางรัฐไปผ่านศบค. ถ้าเราจ่ายไป ในบางที่ก็อาจจะเกิดได้มากเกินไป บางพื้นที่ไม่ได้ ประชาชนก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นดูจากกฎหมายและสถานการณ์ อย่างไรก็ต้องให้ศบค. พิจารณาว่า มันพ้นระยะแรกหรือยัง ที่จะให้เอกชนและ อปท. มาเป็นวัคซีนทางเลือก มาเสริม มาสนับสนุนฝ่ายรัฐ ในกรณีที่คิดว่าเป็นอำนาจที่ทำได้ ก็ให้ศบค.ได้มีแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่จากเงื่อนไขของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน  ด้วยความเป็นวัคซีนฉุกเฉิน การดำเนินการก็ต้องสั่งวัคซีนผ่านภาครัฐ

ข่าวเกี่ยวข้อง: