สรุป 4 ข้อเท็จจริงวัคซีนโควิด "หมอนิธิ" ลั่นก่อนจะบ่นควรเข้าใจให้ถ่องแท้

24 พ.ค. 2564 | 11:05 น.

หมอนิธิสรุป 4 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ชี้ก่อนจะบ่นควรเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน

รายงานข่าวระบุว่า ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda โดยมีข้อความว่า 
    ฟังไม่ได้ศัพท์อย่าจับมากระเดียด 
    When You Know Nothing But Think You Know Everything
    ด้วยความปรารถนาดีและห่วงใย……จากผม ศ.นพ. นิธิ มหานนท์
    ขณะนี้จะมีวัคซีนอะไร แค่ไหนไม่สำคัญเท่าระบบการบริหารจัดการฉีดวัคซีน การพูดหรือคิดหรือบ่นหรือด่าแบบเหมาๆ รวมๆ และไม่สร้างสรรค์ เป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์และไม่ทำอะไรดีขึ้นได้ การจะบ่นจะว่าใครในเรื่องวัคซีน ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้เรื่องวัคซีนนะครับ……ขอสรุปเป็นเรื่องๆ สั้นๆ ตามนี้เอาแต่ข้อเท็จจริง (facts) ไม่เอาตัวเลขให้ทุกคนสับสนครับ
    1.วัคซีนซีนทุกชนิด ทุกยี่ห้อ จากทุกประเทศที่ใช้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นสามรถใช้ได้ผลทุกชนิด ได้ผลกับทุกสายพันธุ์...จะมากหรือน้อยกว่ากัน เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ (การเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกันตามที่เห็นๆ นั้น เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่มีหลักการทางสถิติหรือวิทยาศาสตร์ใดๆ ทำกัน ทำไม่ได้ครับ)
    2.การได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะยี่ห้อใดๆ ดีกว่าไม่ได้ เพราะการได้รับวัคซีนทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อ เสี่ยงเข้าโรงพยาบาล เสี่ยงโดนใส่ท่อช่วยหายใจ เสี่ยงเสียชีวิต และเสี่ยงแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดที่คุณรัก มีน้อยกว่าไม่ได้วัคซีน
    3.ผลหรืออาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนเกิดขึ้นน้อยมากๆๆๆๆๆ ถึงมากที่สุดในทุกๆชนิดของวัคซีน มีโอกาสน้อยยิ่งกว่าการถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเสียอีก และที่แน่ๆคือมีโอกาสน้อยกว่าการเกิดอาการข้างเคียงแบบหนักๆ จากการติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)
    4.วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่อยู่ในตัวคนครับ…..รีบๆฉีดกันครับ อย่าไปเชื่อ “เขาว่า”...การอ่านและแปลผลวิเคราะห์บทความวิจัยทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแปลได้อย่างตรงไปตรงมา การเลือกมาหนึ่งย่อหน้าแล้วสรุปให้คนหลงเชื่อหรือหวากกลัว อันนั้นมั่วครับ ไม่มีเหตุผลใดๆ ทางสถิติหรือวิทยาศาสตร์ที่บอกได้ชัดเจนว่า วัคซีนชนิดไหนดีเลวต่างกันอย่างไรและเท่าไร

 4 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19
    อีกเรื่องหนึ่งที่คนเข้าใจผิดกันจริงจังคือ วัคซีนบางชนิดป้องกันบางสายพันธุ์ไม่ได้นั้น ดูจะเป็นการด่วนสรุปกันอย่างไม่มีหลักการเท่าไหร่นัก เพราะการจะวัดว่าวัคซีนใดป้องกันได้แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ต้องดูความรุนแรงของการแพร่กระจาย(Ro)ของไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ ความหนาแน่นแออัดของประชากรและภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากรในพื้นที่ที่เกิดการระบาดด้วย หากในพื้นที่มีการระบาดรุนแรงคือมีความชุกของไวรัสสูง มีประชากรในพื้นที่ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนมีภูมิต้านทานจำนวนน้อย ภูมิคุ้มกันหมู่ก็ไม่เกิด ให้วัคซีน (ที่ว่ากันว่า) มีประสิทธิภาพแค่ไหนก็ไม่ได้ผล
    ดังนั้น หลักการที่ว่าจะทำการฉีดวัคซีนแบบ”ปูพรม” เหมือนกันหมดทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ 70% ของประชากรในประเทศจึงเป็นความคิดที่ตื้นเกินไป ในสถานการณ์ปัจจุบันการฉีดวัคซีนให้ตรงเป้าคือต้องพิจารณาพื้นที่ที่มีการระบาดสูงกว่าที่อื่น มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีกลุ่ม (cluster) ของสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่าย ให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า 70% ของจำนวนประชากรในพื้นที่นั้นๆโดยเร็วที่สุ…การคิดแบบเหมาๆรวมๆ ตื้นๆ ว่าต้องเหมือนกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้นไม่เหมาะสมนักในเวลาที่เรายังมีวัคซีนไม่มากพอ และความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนยังไม่ดีพอ
    และที่สำคัญ ต้องคิดถึงการกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในการลงทะเบียน เพราะประชากรกลุ่มนี้ยังมีอยู่มากในพื้นที่ที่อยู่กันแออัดและมีการระบาดรุนแรง
    ช่วยกันนะครับคนไทยทุกคนช่วยกันไปเราต้องรอดปลอดภัย
    นิธิ มหานนท์
    เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
    24 พฤษภาคม 2564
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนของประเทศไทยจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-23 พ.ค. 64 มีการฉีดแล้วจำนวน 2,910,664 โดส ประกอบด้วย เข็มที่ 1 สะสมอยู่ที่จำนวน 1,941,565 ราย และเข็มที่ 2 สะสมอยู่ที่จำนวน 969,099 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :