โควิด-19 วิกฤติและความขาดแคลนในโรงพยาบาล

05 พ.ค. 2564 | 12:39 น.

สถานการณ์โควิด19 ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตและความขาดแคลนในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง หมอ พยาบาลต้องทำงานอย่างหนัก

สถานการณ์โควิด19 ยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุดโควิดวันนี้ (5 พ.ค.2564) ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,112 เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 46,037 ราย 

สิ่งที่น่าจับตามองจากหน่วยงานสาธารณสุขคงจะเป็น "คลัสเตอร์คลองเตย" และชุมชนแออัด ในกรุงเทพมหานคร หลังพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่น่ากังวลก็คือ “ชุมชุนคลองเตย” พบว่ามีประชากรหนาแน่นประมาณ 80,000 คน ลักษณะทั่วไปเป็นชุมชนแออัด มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว 

โควิด-19 วิกฤติและความขาดแคลนในโรงพยาบาล

ขณะที่กรุงเทพและปริมลฑลยังคงน่าเป็นห่วง จากข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. – ต้นเดือนพฤษภาคม แบ่งตามพื้นที่เสี่ยงแล้ว ระยะหลังพบว่าเป็นการสัมผัสกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน คนในครอบครัวและผู้ร่วมงานมากขึ้น ตามมาด้วยการติดเชื้อจากตลาด ชุมชนและการขนส่ง และสถานบันเทิง 

โควิด-19 วิกฤติและความขาดแคลนในโรงพยาบาล

ความน่ากังวลครั้งนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ลงนามคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขโควิด-19 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล

ศูนย์ดังกล่าวมีนายกฯ เป็น ผอ.ศูนย์ แบ่งการทำงานเป็น 5 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดหารผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน  โดยให้ ผอ.เขต ผอ.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในระดับเขต จะทำงานร่วมกับศูนย์ใหญ่ บริหารจัดการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน

เมื่อมาดูข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากรายงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ณ วันที่ 1-5 พ.ค.64 มีผู้ป่วยรักษาอยู่ 30,222 ราย ในโรงพยาบาล 21,608 ราย โรงพยาบาลสนาม 8,614 ราย อาการหนัก 1,042 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 343 ราย 

โควิด-19 วิกฤติและความขาดแคลนในโรงพยาบาล

ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตและอุปกรณ์การรักษาโดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจเริ่มขาดแคลน ที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระอย่างหนัก

“สถานการณ์โควิดตอนนี้บานปลายไปมาก บุคลากรมีภาระตึงมือกันไปทั่ว ทางรอดเดียวของเราคือใช้ศักยภาพไอซียูโควิด (ระดับ 3 ) ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้คุ้ม คู่ไปกับการขยายศักยภาพ COVID ward (ระดับ 2) ให้รองรับผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดที่เริ่มรุนแรง (step up) หรือเริ่มรุนแรงลดลง (step down) เพื่อให้การใช้เตียงไอซียูโควิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอาวุธสำคัญหนึ่งคือเครื่องไฮโฟลว์ที่ผมรณรงค์เสนอให้ทุกฝ่ายเร่งจัดหา”  รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว 

ขณะที่เมื่อย้อนดูข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนถึงขณะนี้ จะเห็นว่าจำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อยู่ที่ประมาณ 18,000-21,000 คน แต่ที่เพิ่่มขึ้นเรื่อย ๆ คือที่ผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม เพิ่มขึ้นกว่า 3,308 คน ภายใน 10 วัน 

ประเด็นเรื่องเตียงไอซียูเพียงพอหรือไม่นั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อาจเป็นไปได้ว่าเตียงไอซียูภาครัฐเริ่มตึงมากแล้ว แต่ภาคเอกชนยังมีเตียงไอซียูเหลืออยู่ 

ศ. นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวว่า เตียงไอซียูในกรุงเทพฯ มีความสำคัญมาก โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากจำนวนผู้ป่วยอาการหนักในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 21-27 เมษายน 2564  

“เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า ถึงแม้ว่าจำนวนเคสโควิคทำท่าจะลดลง แต่ถ้าเราไปดูคนไข้โควิคที่อยู่ใน ICU กลับปรากฏว่ามันกำลังเพิ่มขึ้น สวนทางกัน ซึ่งถ้าเรามาดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของคนไข้โควิคในเมืองไทยที่ต้องเข้า ICU จะพบว่ามีประมาณ 3% ของคนไข้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าเรามีคนไข้วันละ 500-1,000 คน ก็จะมีคนไข้ต้องการ ICU ในกรุงเทพฯ วันละ 15-30 คน แถมแต่ละคนก็ต้องอยู่โรงพยาบาล 2-4 อาทิตย์ ดังนั้นตอนนี้เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเตรียมเตียง คน และ สถานที่ เพื่อทำ ICU Co-ward เตรียมไว้ได้เลยครับ และผมคิดว่าเราคงต้องเกณฑ์หมอและพยาบาลจากต่างจังหวัดมาช่วยกรุงเทพฯ แบบที่เมืองจีนทำกับอู่ฮั่น” 
 

เมื่อย้อนกลับไปนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของหูเป่ย์ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้นทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ชาวจีนหลายร้อยล้านคน เดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนมีการแพร่กระจายเชื้อออกไปอย่างกว้างขวาง ขณะที่ประเทศไทยเองก็ติดอันดับประเทศปลายทางยอดนิยมของชาวจีนเช่นกัน

ครั้งนั้นทำให้ต้องได้มีการส่งบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศจีน ไปช่วยเหลือการรักษาพยาบาลและควบคุมโรคระบาดในมณฑลหูเป่ย์รวมกว่า 42,000 คน ทีมแพทย์ทุกทีมต่างมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่จะพาอู่ฮั่นฝ่าวิกฤติซึ่งต่อมาสถานการณ์การแพร่ระบาดในหูเป่ย์ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ถือที่เป็นพื้นที่ระบาดหนัก ผู้ป่วยติดเชื้อเกินครึ่งของจำนวนทั่วประเทศ และยังเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการยากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีจำนวนมาก

นอกจากยังมีปัญหาการหาเตียงให้ผู้ป่วย คนไข้ตกค้างที่บ้าน จนเกิดกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมทั้งจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยไอซียูห้องความดันลบก็เริ่มจะเต็มกำลังของระบบสาธารณสุข 

มาถึงตอนนี้เราควรจะทำอย่างไรดี ? 

“เราก็ต้องหาวิธีอื่นที่จะลดการระบาดซึ่งความจริงเราก็มีไม้ตายอยู่ คือการ lockdown ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามทำแค่บางส่วน แต่มองว่าถ้าทำแบบนี้ มันจะไม่เป็นผลมากนัก และถ้าลดการระบาดยังไม่ได้ ผมคิดว่าเราก็ควรต้องป้องกันการตาย โดยการระดมฉีดวัคซีนที่เราได้มาใหม่ 1 ล้านโดสให้คนแก่ในกรุงเทพฯ ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ก็อย่างที่รู้รู้กันอยู่จากข้อมูลในอิสราเอลและอเมริกาว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราการตายในผู้ป่วยสูงอายุ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักน้อยลง เหนื่อยน้อยลง และแม้กระทั่งการต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็น้อยลงด้วย อาจจะทำให้สถานการณ์การใช้เตียง ICU ดีขึ้น” ศ. นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ปากน้ำป่วน! ปิดเทศบาล 7 วันเริ่ม 6 พ.ค. หลังพบผู้ติดโควิด-กักตัวระนาว

เปิดคำสั่ง "บิ๊กตู่"ลุยเอง นั่งผอ.ศูนย์ควบคุมระบาดโควิด กทม.-ปริมณฑล

ศบค.ยืนยัน"โควิดสายพันธุ์บราซิล" พบเฉพาะในสถานกักกัน