ทำความเข้าใจ ข้อแตกต่าง “อาการไม่พึงประสงค์” และ “อาการแพ้” จากการฉีดวัคซีนโควิด19

08 มี.ค. 2564 | 23:05 น.

นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 64 ไขข้อข้องใจ "อาการไม่พึงประสงค์" และ "อาการแพ้" จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 แตกต่างกันอย่างไร สรุปที่นี่

หลังจากที่รัฐบาลกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 13 จังหวัด และฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วกว่า 25,000 คน จากข้อมูลกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2564 รายงานว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ที่เริ่มฉีดมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 โดยดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว 25,864 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 3,000 คน ภาพรวมพบผู้มี อาการไม่พึงประสงค์ 828 คน คิดเป็น 3.2 % ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด จึงเกิดคำถามตามมาว่า "อาการไม่พึงประสงค์" กับ "อาการแพ้" วัคซีนโควิด-19 เหมือน หรือ ต่างกันอย่างไร

ฐานเศรษฐกิจ พาไปหาคำตอบ โดย ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 ได้อธิบายความแตกต่างของคำว่า อาการไม่พึงประสงค์ กับ อาการแพ้ หลังการฉีดวัคซีนโควิด ตอนหนึ่งระหว่างแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ไว้ดังนี้ 

กรณีประชาชนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีนโควิด 19 ขอชี้แจงว่า วัคซีน ยา หรือ สารเคมีใด ๆ ที่ใช้กับร่างกายถือว่า เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่รู้จัก จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นตามมาได้ 2 แบบ คือ อาการไม่พึงประสงค์ และ อาการแพ้ ซึ่งอาจไม่ได้แพ้ที่ตัวไวรัสโดยตรง แต่อาจเป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ ของวัคซีน

"อาการไม่พึงประสงค์" สามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังฉีดวัคซีนทุกชนิด แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้ 

1.อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น ปวดบวมแดง เจ็บในตำแหน่งที่ฉีดสามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบช่วยบรรเทาอาการได้

2.อาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ได้แก่ มีไข้ต่ำ ๆ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1 -2 วัน

"อาการแพ้วัคซีน" มักจะมีการเกิดผื่นแพ้ ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น ผื่นแดงบนผิวหนัง ที่สังเกตได้ง่าย คือ ลมพิษ เป็นผื่นนูน มีขอบเขตชัดเจน อาจคันหรือไม่ก็ได้ ส่วนอาการแพ้ที่รุนแรง อาจมีอาการหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกล็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก หมดสติ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติแพ้ง่ายมาก่อน ควรมีการติดตามสังเกตอาการ มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติแพ้มาก่อน

ขอให้ประชาชนชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสเกิด อาการไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยกับผลดีที่จะได้อย่างมากจากการได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ผมคิดว่า มันคุ้มค่ามากที่เราจะรับวัคซีนโควิด-19 และขอเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนในระยะแรกเข้ารับการฉีดวัคซีนตามวัน เวลาที่ได้รับการนัดหมายจากโรงพยาบาลเพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิต ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว

ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต

 

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวคในประเทศไทยฉีดไปแล้ว จำนวน 27,497 คน พบ ผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 956 คน คิดเป็น 3.48 % โดยหากแบ่งประเภทอาการ ส่วนใหญ่พบการอักเสบบริเวณที่ฉีด รองลงมา ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ มีไข้ อาเจียน เป็นผื่น ท้องเสีย เหนื่อย เป็นต้น ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่กำลังจะนำมาใช้ พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เป็นไข้

ส่วนผู้มีอาการแพ้ จะมีผื่นขึ้น ใบหน้าบวม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดรูปแบบการให้บริการฉีดวัคซีนรองรับ ตั้งแต่การซักประวัติอาการแพ้ การเฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาที และติดตามอาการในวันที่ 1,7 และ 30 โดยใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” บันทึกอาการที่ไม่พึงประสงค์เพื่อความปลอดภัย และเป็นข้อมูลในระดับประเทศต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: